เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai Compass นำเสนอบทความเรื่อง ''ธุรกิจเสาเข็ม...ยังไหว แม้เผชิญภัย Covid?''


Key Highlights

- Krungthai COMPASS มองว่า ในปี 2565 ตลาดเสาเข็มรวมจะมีมูลค่าราว 6.6 หมื่นล้านบาท หรือฟื้นตัว 6%YOY จากปี 2564 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบหลายปี โดยแบ่งเป็น 1)ตลาดเข็มตอกปรับตัวขึ้น 6%YOY เป็นราว 5.8 หมื่นล้านบาท และ 2)ตลาดเข็มเจาะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5%YOY เป็นราว 7.6 พันล้านบาท โดยได้รับอานิสงส์จากการก่อสร้างภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่องและการฟื้นตัวของการก่อสร้างภาคเอกชนโดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย
 
- ส่วนมูลค่าตลาดเสาเข็มรวมในปี 2564 คาดลดลง เป็นราว 6.2 หมื่นล้านบาทหรือหดตัวจากปีก่อนหน้า -5.4%YOY จากปัจจัยการก่อสร้างภาคเอกชนที่หดตัว รวมถึงการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในช่วงมิถุนายนถึงกรกฎาคม โดยแบ่งเป็น 1)ตลาดเข็มตอกลดลง -5%YOY เป็นราว 5.5 หมื่นล้านบาท และ 2)ตลาดเข็มเจาะลดลง -8%YOY เป็นราว 7.2 พันล้านบาท
 
- ผู้เล่นควรมีการสั่งวัสดุเหล็กในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยง stock loss ในอนาคต เนื่องจากเรามองว่าราคาเฉลี่ยเหล็กทรงยาวในปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น 25%YOY เป็นราว 20.4 บาทต่อกิโลกรัม แต่คาดว่าราคาเฉลี่ยในปี 2565 จะลดลงในช่วง -5%YOY ถึง -10%YOY เป็น 18.4 ถึง 19.4 บาทต่อกิโลกรัม การสั่งซื้อเหล็กล่วงหน้าในปริมาณมากเกินจำเป็นจึงอาจทำให้เกิด stock loss ได้ 

ดร. สุปรีย์ ศรีสำราญ
 
Krungthai COMPASS
 
ลักษณะธุรกิจเสาเข็มเป็นอย่างไร

ธุรกิจเสาเข็มสามารถแบ่งแยกได้ 2 ประเภท ได้แก่ 1)ธุรกิจเสาเข็มตอก และ 2) ธุรกิจเสาเข็มเจาะ ซึ่งทั้งคู่ถูกขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยผู้ประกอบการเสาเข็มตอกจะขายเสาเข็มที่หล่อแล้วและอาจมีการให้บริการตอกเสาเข็มด้วย นอกจากนี้ ยังรวมถึงการขายชิ้นงานคอนกรีตอื่นๆ เช่น เสาไฟฟ้า คานเสาไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจเสาเข็มเจาะจะให้บริการหล่อเสาเข็มในพื้นที่ของผู้ว่าจ้าง โดยผู้ประกอบการบางรายยังให้บริการงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น งานกำแพงกันดิน (diaphragm wall) งานประกอบรื้อถอนระบบค้ำยันเบรสซิ่ง (Bracing) เป็นต้น 
การเติบโตของตลาดธุรกิจเสาเข็มตอกและเสาเข็มเจาะ (รายได้รวมของผู้ประกอบการเสาเข็มตอกและผู้ประกอบการเสาเข็มเจาะ) ขึ้นอยู่กับมูลค่าการก่อสร้างโครงการภาครัฐและมูลค่าการโครงการก่อสร้างภาคเอกชนค่อนข้างมากสะท้อนได้จากค่าสหสัมพันธ์ (correlation)  ที่สูงถึง 0.75 (รูปที่1)
 
 
โดยทั่วไป ธุรกิจเสาเข็มตอกมีการแข่งขันกันสูง ขณะที่ธุรกิจเข็มเจาะมีการแข่งขันปานกลาง2 จากการศึกษาดัชนี Herfindhal Hirschman Index (HHI) เราพบว่า ธุรกิจเสาเข็มตอกมีค่า HHI ที่ราว 110 แสดงถึงลักษณะธุรกิจที่มีการแข่งขันที่สูง เนื่องจากธุรกิจเสาเข็มตอกมีการใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีที่ไม่สูงมาก จึงมีแนวโน้มที่จะมีผู้ประกอบการหลายรายในพื้นที่เดียวกัน ส่งผลให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย ส่วนธุรกิจเสาเข็มตอกมีค่า HHI ที่ราว 1,765 แสดงถึงลักษณะธุรกิจที่มีการแข่งขันปานกลาง เนื่องจากธุรกิจเข็มเจาะมีการใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าธุรกิจเข็มตอก จึงต้องลงทุนมากกว่าและทำให้มีผู้เล่นน้อยรายกว่าธุรกิจเข็มตอกตามไปด้วย

ในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดเสาเข็มหดตัวลง -8%YOY มาอยู่ที่ราว 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าลดลงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของ Covid-19 เนื่องจากการตอกเสาเข็มเป็นกิจกรรมพื้นฐานในการก่อสร้างที่ยังมีอุปสงค์และยังสามารถดำเนินการได้  โดยเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น รายได้รวมธุรกิจเสาเข็มหดตัวลงปานกลาง สะท้อนถึงความยืดหยุ่น (resilience) ของธุรกิจเสาเข็มที่มีอยู่ในระดับค่อนข้างดี เมื่อเผชิญกับภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน (รูปที่ 2)
 

ตลาดเสาเข็มที่หดตัวในปี 2563 แบ่งเป็นรายได้ของผู้เล่นเสาเข็มตอกมีการหดตัวลง -6.5%YOY มาอยู่ที่ราว 5.8 หมื่นล้านบาท และ รายได้ของผู้เล่นเสาเข็มเจาะ -17.5%YOY มาอยู่ที่ราว 7.9 พันล้านบาท  เมื่อพิจารณาจากรายได้ของผู้เล่นเสาเข็มตอกและผู้เล่นเสาเข็มเจาะที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาท (รูปที่ 3) เราพบว่า รายได้ของผู้เล่นเสาเข็มตอกมีการหดตัวเฉลี่ยเพียง -6.5%YOY ขณะที่รายได้ของผู้เล่นเข็มเจาะหดตัวเฉลี่ยถึง -17.5%YOY เนื่องจากลักษณะงานของผู้เล่นเข็มตอกเป็นโครงการก่อสร้างภาครัฐและที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ยังสามารถดำเนินการได้ ขณะที่รายได้ของผู้เล่นเสาเข็มเจาะที่ลดลงมากกว่าเกิดจากการชะลอตัวของการขึ้นโครงการอาคารขนาดใหญ่ที่ใช้เข็มเจาะเป็นหลัก เช่น คอนโดมิเนียม อาคารมิกซ์ยูส เป็นต้น นอกจากนี้ ปริมาณงานในมือ (backlog) ของผู้เล่นเสาเข็มทั้งสองประเภทยังเป็นตัวช่วยชะลอไม่ให้รายได้ตกลงมากกว่านี้อีกด้วย 
 
 
แนวโน้มธุรกิจเสาเข็มจะเป็นอย่างไรในปี 2564-2565 และอะไรเป็นปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจ 

Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2564 ตลาดเสาเข็มจะหดตัวอีก -5.4%YOY เป็นราว 6.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นจุดต่ำที่สุดในรอบหลายปี จากการก่อสร้างภาคเอกชนที่ลดลง แต่ยังคงได้รับแรงพยุงจากการก่อสร้างภาครัฐที่ยังเติบโตทำให้ไม่หดตัวลึก รวมถึงการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในช่วงมิถุนายนถึงกรกฎาคมที่ทำให้ผู้ประกอบการเสาเข็มไม่สามารถดำเนินการได้ โดยแบ่งเป็น 1)ตลาดเข็มตอกปรับตัวลดลง -5%YOY เป็นราว 5.5 หมื่นล้านบาท และ 2)ตลาดเข็มเจาะปรับตัวลดลง -8%YOY เป็นราว 7.2 พันล้านบาท

ส่วนในปี 2565  เราประเมินว่าตลาดเสาเข็มรวมมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.9%YOY มาอยู่ที่ราว 6.6 หมื่นล้านบาท โดยมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการภาครัฐที่เติบโตต่อเนื่องจากปี  2564 และการฟื้นตัวของโครงการก่อสร้างภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย โดยแบ่งเป็น 1)ตลาดเข็มตอกปรับตัวขึ้น 6%YOY เป็นราว 5.8 หมื่นล้านบาท และ 2)ตลาดเข็มเจาะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5%YOY เป็นราว 7.6 พันล้านบาท

ตลาดเข็มมีแนวโน้มหดตัวในปี 2564 จากมูลค่าการก่อสร้างโครงการภาคเอกชนที่ลดลง แต่ยังได้รับแรงพยุงจากมูลค่าการก่อสร้างโครงการภาครัฐที่ยังเติบโตในปี 2564 ราว 7%YOY เป็น 8.14 แสนล้านบาท ทำให้ตลาดไม่หดตัวลึก โดยใน 1H2564 มูลค่าการก่อสร้างโครงการภาครัฐยังคงเติบ โต สูงถึง 17%YOY สะท้อนถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจถึงแม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของ Covid-19 อีกทั้งยังรวมถึงปัจจัยฐานต่ำใน 1H2563 ด้วย จากสถานการณ์ดังกล่าว เราจึงประเมินว่ามูลค่าก่อสร้างโครงการภาครัฐในปี 2564 ยังคงเติบโตจากปีก่อนหน้า(รูปที่ 4)  ซึ่งจะเป็นแรงพยุงอุปสงค์ของเสาเข็มไว้ไม่ให้หดตัวมาก
 

ส่วนในปี 2565 คาดว่ามูลค่าการก่อสร้างภาครัฐจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ราว 5%YOY เป็น 8.53 แสนล้านบาท ประกอบกับมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนที่ฟื้นตัว จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจเสาเข็มปรับตัวดีขึ้น

มูลค่าการก่อสร้างโครงการภาครัฐที่เติบโตทั้งในปี 2564 และ 2565 มีแรงขับเคลื่อนจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างภาครัฐทั่วไป และ 2) โครงการเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม 

1) โครงการก่อสร้างภาครัฐทั่วไป ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวกับการก่อสร้างได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนสูงกว่าปี 2563 โดยโครงการเหล่านี้ ได้แก่ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม ขนส่ง เช่น ถนน สะพาน และสาธารณูปโภคทั่วไปที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น ฝาย เขื่อน ซึ่งงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2654 ของ 4 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการเหล่านี้มีการที่ปรับตัวขึ้น ได้แก่ กรมทางหลวงเพิ่มขึ้น 20%YOY เป็นราว 1.2 แสนล้านบาท กรมทางหลวงชนบทเพิ่มขึ้น 13%YOY เป็น 6.6 หมื่นล้านบาท กรมชลประทานเพิ่มขึ้น 9%YOY เป็นราว 4.7 หมื่นล้านบาท อีกทั้ง เรายังประเมินว่า ในปี 2564 หน่วยงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะยังมีการเบิกจ่ายอยู่ในระดับทีมากกว่า 75% ของงบประมาณที่ได้รับอีกด้วย ซึ่งงบประมาณที่สูงขึ้นประกอบกับการเบิกจ่ายที่ดีจะส่งผลบวกต่อรายได้ของผู้ประกอบการเสาเข็มตามไปด้วย (รูปที่ 5) 
 

ส่วนในปีงบประมาณ 2565 ทั้ง 4 หน่วยงานได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง3 โดยหน่วยงานที่มีงบประมาณรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่  กรมชลประทานเพิ่มขึ้น 6%YOY เป็นราว 7 หมื่นล้านบาท กรมโยธาธิการและผังเมืองเพิ่มขึ้น 9%YOY เป็นราว 2.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่หน่วยงานด้านคมนาคมมีการปรับลดลง ได้แก่ กรมทางหลวงลดลง -8%YOY เป็นราว 1.1 แสนล้านบาท  กรมทางหลวงชนบทลดลง -5%YOY เป็นราว 4.4 หมื่นล้านบาท ทำให้ในปีงบประมาณ 2565 งบประมาณของ 4 หน่วยงานปรับลดลงเล็กน้อยราว -2.5%YOY ไปอยู่ที่ 2.55 แสนล้านบาท แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่างบประมาณรายจ่ายลงทุนรวมในปี 2563 ที่ 2.25 แสนล้านบาทและในปี 2562 ที่ 2.38 แสนล้านบาท
 
นอกจากนี้ ยังรวมถึงโครงการระบบไฟฟ้า เช่น เสาไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกับเสาเข็มตอก ที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้รับงบประมาณลงทุนอย่างต่อเนื่อง

2) โครงการเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้เริ่มต้นสร้างในปี 2564 และ 2565 เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (มูลค่างานโยธา 1.8 แสนล้านบาท)ซึ่งเซ็นต์สัญญาก่อสร้างส่วนใหญ่แล้ว โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (1.2 แสนล้านบาท) รวมถึงโครงการที่อยู่ระหว่างสรุปการประมูลหรือยื่นประมูล เช่น รถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (7.3 หมื่นล้านบาท) รถไฟทางคู่เส้นทาง เส้นทาง บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม (5.5 หมื่นล้านบาท) รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ เส้นทาง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (7.8 หมื่นล้านบาท) เป็นต้น ซึ่งโครงการก่อสร้างเหล่านี้จะสร้างความต่อเนื่องของอุปสงค์ให้กับธุรกิจเสาเข็มทั้งในปี 2564 และ 2565 ทั้งเสาเข็มตอกและเสาเข็มเจาะโดยขึ้นอยู่กับลักษณะการออกแบบโครงการก่อสร้าง

อย่างไรก็ดี มูลค่าการก่อสร้างโครงการภาคเอกชนที่ในปี 2564 ยังมีแนวโน้มหดตัว -4%YOY เป็น 5.32 แสนล้านบาท แต่คาดฟื้นตัว 4.5%YOY เป็น 5.56 แสนล้านบาทในปี 2565  ซึ่งจะส่งผลบวกต่อทั้งผู้เล่นเสาเข็มตอกและผู้เล่นเสาเข็มเจาะ  โดยในช่วง 1H2564 ที่ผ่านมา มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 1%YOY มาอยู่ที่ 2.83 แสนล้านบาท(รูปที่ 5) สะท้อนถึงการดำเนินการก่อสร้างโครงการของภาคเอกชนที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดี เราพบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นการปรับตัวขึ้นของโครงการก่อสร้างภาคเอกชนอื่นๆ(other private construction) ซึ่งไม่ใช่การปรับตัวขึ้นของการก่อสร้างภาค เอกชนหลัก ได้แก่ ส่วนที่อยู่อาศัย (dwelling) และ ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย (non-dwelling)
 

ถึงแม้ว่าการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการภาคเอกชนจะลดลงถึง -16.3%YOY ในปี 2563 มาอยู่ที่ 51.8 ล้านตารางเมตร แต่ใน 1Q2564 เราเริ่มเห็นสัญญาณการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่ดีขึ้น จากโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบและโรงงาน (รูปที่ 6) โดยที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งประกอบไปด้วยบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ ปรับตัวขึ้นราว 1%YOY เป็นราว 8.4 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งพบว่า 3 ภูมิภาคที่มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้นต่อเนื่องในปี 2563 และไตรมาสแรกของปี 2564 ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2563 ปรับขึ้น 9.7%YOY และใน 1Q2564 ปรับขึ้น 11%YOY ภาคใต้ ในปี 2563 ปรับขึ้น 5.7%YOY และใน 1Q2564 ปรับขึ้น 2%YOY และภาคตะวันตก ในปี 2563 ปรับขึ้น 8%YOY และใน 1Q2564 ปรับขึ้น 14%YOY 

ส่วนการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใน 1Q2564 มีการปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (มากกว่า 150%YOY) ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สระแก้ว ซึ่งการก่อสร้างทั้งที่อยู่อาศัยและโรงงานจะส่งผลบวกต่อธุรกิจเสาเข็ม โดยเฉพาะเสาเข็มตอกที่สามารถใช้ได้กับทั้งการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม

การออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการภาคเอกชนเหล่านี้เป็น leading indicator สำคัญที่จะบ่งถึงมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนและความต้องการใช้เสาเข็มในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามอายุของใบอนุญาตก่อสร้าง ผนวกกับการที่ภาครัฐเริ่มมีมาตรการควบคุม Covid-19 ที่ผ่อนคลายจะช่วยให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นในการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลใหม่มากขึ้น 
 
อะไรคือปัจจัยที่ผู้ประกอบการควรจับตามอง

Krungthai COMPASS มองว่า 3 ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการในธุรกิจเสาเข็มต้องจับตามองได้แก่ 1) ราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็ก  2) การแพร่ระบาดของ Covid-19 และ 3) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
 

1) ต้นทุนของธุรกิจเสาเข็มทั้งเสาเข็มตอกและเสาเข็มเจาะส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ เหล็กและคอนกรีต ซึ่งมีสัดส่วนราว 50%-60% ของต้นทุนในการผลิตเสาเข็มทั้งหมด ดังนั้นผู้ประกอบการควรมีการจับตามองอย่างใกล้ชิด (รูปที่ 7) จากการประเมิน เราพบว่าสัดส่วนต้นทุนวัสดุก่อสร้างในการผลิตเข็มตอกมีสัดส่วนมากที่สุด โดยแบ่งเป็น ต้นทุนเหล็กทรงยาวประมาณ 35%-55% ของต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตเสาเข็มตอกทั้งหมด (ไม่รวมค่าบริการในการเคลื่อนย้ายและตอกเสาเข็ม) ซึ่งประกอบด้วยเหล็กเส้น เหล็กปลอก และลวดเหล็ก ขณะที่สัดส่วนต้นทุนคอนกรีตอยู่ที่ราว 20%-30% และต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าแรง มีสัดส่วนรองลงมาที่ราว 30%-40% ของต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตเสาเข็มตอกทั้งหมด 
 
ในด้านเสาเข็มเจาะ มีสัดส่วนต้นทุนวัสดุก่อสร้างทั้งหมดราว 55% โดยแบ่งเป็น เหล็ก ประมาณ 30% คอนกรีตประมาณ 24% และเบนโทไนท์ (สารรักษาเสถียรภาพของหลุมเจาะ) ประมาณ 1% ของต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตเสาเข็มเจาะทั้งหมด และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับพนักงานที่ราว 18% ของต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตเสาเข็มเจาะทั้งหมด 

ซึ่งจากการวิเคราะห์ เราพบว่า หากราคาเหล็กทรงยาวมีการปรับตัวขึ้น 1% จะส่งผลให้ต้นทุนของของผู้ประกอบการเสาเข็มเพิ่มขึ้นราว 0.3%-0.5% และหากราคาปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้ต้นทุนของของผู้ประกอบการเสาเข็มมีการปรับตัวขึ้นราว 0.2%-0.3% ซึ่งจะกดดันอัตรากำไรขั้นต้น (gross margin) ให้ลดลง ดังนั้น การควบคุมราคาและซัพพลายของวัสดุก่อสร้างจึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการควรควบคุมดูและอย่างใกล้ชิด

โดยคาดว่า ราคาเฉลี่ยเหล็กทรงยาวของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น 25%YOY มาอยู่ที่ราว 20.4 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของของผู้ประกอบการเสาเข็มเพิ่มขึ้นราว 7.5%-12.5% (รูปที่ 8) โดยราคาเหล็กมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2563 เมื่อความต้องการในการใช้เหล็กในจีนมีการปรับตัวมากขึ้นหลังจากภาวะการระบาดของ Covid-19 คลี่คลายลง ประกอบกับการควบคุมการผลิตเหล็กเพื่อลดมลภาวะในจีนและการยกเลิกการอุดหนุนภาษีในการส่งออก (tax rebate) 13% จากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ซัพพลายเหล็กจากจีนลดลงและราคาเหล็กในจีนปรับตัวสูงขึ้น  
 
อย่างไรก็ดี ราคาเหล็กในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มลดลงจากราคาสินแร่เหล็ก (iron ore) ที่ในสิงหาคม 2564 เริ่มปรับตัวลดลงมาอยู่ในช่วง 150-160 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับในช่วงมกราคม 2564 แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในจีนลงลงด้วย โดยการปรับตัวดังกล่าวส่งผลโดยตรงกับราคาเหล็กไทยเนื่องจากไทยมีการนำเข้าเหล็กจากจีนราว 1 ใน 3 ของปริมาณการบริโภคเหล็กทั้งประเทศ

ส่วนในปี 2565 เรามองว่าราคาเฉลี่ยเหล็กของไทยมีแนวโน้มลดลงราว -5%YOY ถึง -10%YOY มาอยู่ในช่วง 18.4  ถึง 19.4 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะส่งผลบวกต่อต้นทุนของของผู้ประกอบการเสาเข็ม ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากราคาเฉลี่ยสินแร่เหล็กที่คาดปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงการ rebalance อุปสงค์และอุปทานผลิตภัณฑ์เหล็กในจีนที่ผู้ผลิตเหล็กได้มีการปรับการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการเหล็ก ทำให้ราคาเหล็กไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการเสาเข็มปรับตัวดีขึ้น
 
 
อย่างไรก็ดี ผลของราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวต่อกำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการยังขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น การซื้อวัสดุก่อสร้างล่วงหน้าเพื่อล็อคราคาซึ่งจะช่วยลดความผันผวนและต้นทุนวัสดุก่อสร้าง การเจรจาขอปรับราคาราคาเสาเข็มกับเจ้าของงาน เป็นต้น 

2) การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่อาจส่งผลต่อผู้ประกอบการในหลายด้าน  ยกตัวอย่างเช่น ระยะเวลาในการทำงานและการขนส่งเสาเข็ม วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ถูกจำกัดเนื่องจากการ lockdown อุปทานแรงงานที่ลดลงจากการติดเชื้อ  แรงง่านต่างด้าวที่ไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาสู่ประเทศได้หลังจากกลับประเทศเมื่อเกิดการแพร่ระบาดในช่วง 2Q2563 การปิดแคมป์คนงาน รวมถึง การที่ผู้ประกอบการต้องรักษา ความสะอาด สุขลักษณะ ทั้งบริเวณหน้างาน แคมป์ พาหนะ อีกทั้งยังต้อง monitor พื้นที่เหล่านี้อย่างละเอียดและสม่ำเสมอด้วย

3) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2565 ของ 4 หน่วยงานหลัก ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ถือเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการควรจับตามองต่อไป เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อรายได้ที่มาจากงานก่อสร้างภาครัฐ  นอกจากนี้ ยังรวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาวการณ์ระบาดของ Covid-19 ที่เป็นปัจจัยสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนไทยมีการลงทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย กรรม รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะก่อให้เกิดการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตอีกด้วย 

Implication: 
 
• ผู้ประกอบการเสาเข็มควรมีการปรับตัวรับงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบและงานโครงการก่อสร้างภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะการรับงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตก ที่มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในปี 2563 และ 1Q2564 รวมถึงภาคตะวันออกที่ใน 1Q2564 ที่มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นแล้ว ขณะที่การก่อสร้างโครงการภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง หากไม่เกิดการระบาดของ Covid-19 ที่รุนแรงมาก สะท้อนจากงบประมาณรายจ่ายลงทุนของ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ยังมีการประมูลและเตรียมการประมูลอย่างต่อเนื่อง

• ผู้ประกอบการเสาเข็มควรเตรียมพร้อมในการรับมือกับความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็ก ซึ่งราคาเฉลี่ยในปี 2564 มีแนวโน้มที่อยุ่ในระดับสูงกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2563 โดยผู้ประกอบการเสาเข็มควรพิจารณาในทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อลดความผันผวนของราคาเหล็กซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญ อีกทั้งอาจต้องพิจารณากระจายแหล่งซื้อเหล็กเพื่อลดการเกิดห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก (Supply chain disruption) ในกรณีที่ Covid-19 กลับมาระบาดอย่างรุนแรงจนซัพพลายเออร์ไม่สามารถผลิตและขนส่งได้ตรงเวลาได้ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรมีการสั่งซื้อเหล็กให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งาน เนื่องจากราคาเฉลี่ยเหล็กในปี 2565 มีแนวโน้มลดลง การซื้อเหล็กเกินความจำเป็นอาจนำไปสู่ภาวะ stock loss ได้ 

• ภาครัฐควรมีการพิจาราณามาตรการควบคุมการแพร่ระบาด Covid ที่เหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจเสาเข็มและธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรมก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้ อุตสาหกรรมก่อสร้างถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ยังสามารถดำเนินการได้ถึงแม้ว่าจะประสบกับการแพร่ระบาดของ Covid-19และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ภาครัฐจึงควรมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น การห้ามดำเนินงานเฉพาะหน้างานและแคมป์ที่มีแรงงานติดหรือมีแนวโน้มที่จะติด Covid เท่านั้น รวมถึงมาตรการผ่อนปรน อื่นๆ เช่น การเพิ่มช่วงเวลาให้มีการขนย้ายเสาเข็ม วัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้างอื่นๆ มากขึ้น สุดท้าย ภาครัฐควรมีการจัดหาวัคซีนให้บุคลากรในธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะแรงงานให้เร็วที่สุด
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2564 เวลา : 12:38:14
20-04-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. พรุ่งนี้ (20 เม.ย.) ราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้น 50 สต./ลิตร ตามมติ กบน. มีผลเที่ยงคืนนี้

2. ตลาดหุ้นปิด (19 เม.ย.67) ลบ 28.94 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,332.08 จุด

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (19 เม.ย.67) ลบ 25.09 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,335.93 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 2,385 เหรียญ และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 2,425 เหรียญ

5. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.20%

6. ทองนิวยอร์ก ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวก 9.60 เหรียญ รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

7. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (18 เม.ย.67) บวกแค่ 22.07 จุด เจ้าหน้าที่เฟดตบเท้าหนุนไม่ควรรีบลดดอกเบี้ย

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.75-37.05 บาท/ดอลลาร์

9. ตลาดหุ้นไทยเปิด (19 เม.ย.67) ลบ 20.39 จุดดัชนีอยู่ที่ 1,340.63 จุด

10. ทองเปิดตลาด (19 เม.ย. 67) พุ่งขึ้น 550 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 42,500 บาท

11. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 เม.ย.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.85 บาทต่อดอลลาร์

12. ประกาศ กปน.: ด่วนมาก!!! คืนวันนี้ 18 เม.ย. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราษฎร์บูรณะ

13. ตลาดหุ้นปิด (18 เม.ย.67) ลบ 5.92 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.02 จุด

14. ตลาดหุ้นไทยปิดภาคเช้า (18 เม.ย.67) บวก 1.83 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,368.77 จุด

15. ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัด และมีฝนฟ้าคะนองในทุกภาครวมทั้งกรุงเทพปริมณฑล 10% เว้นภาคใต้ ฝั่ง ตอ.ฝน 20%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:26 pm