เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เปิดหวูดรถไฟจีน-ลาว: นัยต่อเศรษฐกิจไทย


รถไฟจีน-ลาว พร้อมจะเปิดหวูดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
 
• รถไฟจีน-ลาวอยู่ภายใต้โครงการ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)” ของรัฐบาลจีน ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนของการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  
 
• มีระยะทางจากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์รวม 922.5 กิโลเมตร และใช้เวลาในการขนส่ง 8 ชั่วโมง โดยสถานีสุดท้ายสิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ซึ่งห่างจากจังหวัดหนองคายเพียง 24 กิโลเมตร (รูปที่ 1)
 
• เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะมีการขนส่งสินค้า 5 เที่ยวต่อวัน และขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 2 เที่ยวต่อวัน ซึ่งจะสามารถขนส่งสินค้าได้ปีละไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านตัน และขนส่งผู้โดยสารได้ปีละ 0.5 ล้านคน  โดยในระยะถัดไป จะเพิ่มรอบการขนส่งสินค้าเป็น 14  เที่ยวต่อวัน และขนส่งผู้โดยสาร 4 เที่ยวต่อวัน
 
เส้นทางนี้จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ผ่านโครงการรถไฟจีน-ยุโรป และทำให้มีการเดินทางของผู้คนเพิ่มมากขึ้น บทความนี้จึงอยากนำเสนอการวิเคราะห์โอกาส ความท้าทาย และปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของไทยจากการเปิดหวูดรถไฟใหม่นี้
 
รูปที่ 1: เส้นทางรถไฟจีน-ลาว และการเชื่อมต่อมายังไทย
 
 
 
โอกาสและความท้าทายของไทย
 
ในระยะสั้น ไทยจะได้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟที่มาอยู่ใกล้ไทยใน 4 ด้าน คือ 1. ด้านสินค้า 2. ด้านการลงทุน 3. ด้านการท่องเที่ยว 4. ด้านการขนส่ง
 
 
1. ด้านสินค้า: ไทยมีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น รถไฟสายนี้จะใช้ขนส่งสินค้าเป็นหลัก สะท้อนจากจำนวนเที่ยวเดินรถไฟของสินค้าที่มากกว่าการขนส่งคน แม้คาดว่าการนำเข้าสินค้าจีนมาไทยจะมีมากขึ้น แต่สินค้าไทยก็มีแนวโน้มที่จะส่งออกได้มากขึ้น เพราะไทยมีตลาดในจีนตอนใต้อยู่แล้ว
 
(ก)  อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงาม ผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์ฮาลาลต่าง ๆ  ซึ่งเป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนยอดนิยม (Cross-border E -commerce หรือ CBEC) (รูปที่ 2) เนื่องจากจีนตอนใต้- มณฑลยูนนานและข้างเคียงมีประชากรมากกว่า 210 ล้านคนที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู พบว่า รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนระบบนิเวศการค้าที่เอื้อต่อกลุ่ม SMEs ที่มีช่องทางการขายแบบ CBEC ดังนี้ 1) ไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า 2) ไม่เสียภาษีศุลกากร 3) ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม และ 4) การตรวจสินค้าที่เข้มงวดน้อยกว่า ทำให้ SMEs สามารถเข้าไปทดลองตลาดได้ง่ายและสะดวกกว่าการค้ารูปแบบเดิม ส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง  
 
(ข)  ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ (ผลไม้ ข้าว ยางพารา และไก่แช่แข็ง) ซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยส่งออกไปจีน (รูปที่ 2) ที่ส่วนใหญ่ส่งออกทางเรือมากกว่า 80% โดยการใช้เส้นทางนี้จะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย และยังสามารถกระจายความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าขนส่งทางเรือที่แพง รวมถึงการจราจรที่แออัดจากเส้นทางขนส่งเดิม ส่งผลให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ความท้าทายมาจากสินค้าจีนที่มีแนวโน้มเข้าไทยอย่างมหาศาล โดยเฉพาะสินค้า CBEC อาทิ กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสินค้าแฟชั่น ที่การนำเข้ามาไทยในช่วง  8 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวกว่า 275% (รูปที่ 2) ทั้งนี้ ยังพบว่ามีทุนจีนได้เข้ามาตั้งโกดังสินค้าขนาดใหญ่และบริษัทโลจิสติกส์หลายแห่งในลาว เพื่อรองรับสินค้าก่อนกระจายข้ามมาไทยต่อไปด้วย
 
  
2. ด้านการลงทุน: ไทยมีโอกาสทั้ง FDI และ TDI โดยจะมี FDI จากจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และ TDI จากนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในลาว เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าและลดต้นทุนการขนส่ง
 
2.1 ด้าน FDI: นักลงทุนจีนให้ความสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทำให้จีนย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากนักลงทุนจีนที่มีความสนใจมาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งหากจีนมาลงทุนที่ไทยเพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นและมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ผ่านการกระจายการลงทุนสู่ภูมิภาค โดยธุรกิจที่จีนสนใจมาลงทุนในไทย มีดังนี้
 
• บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)   อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์และพลาสติก รวมถึงผลิตยางล้อ ซึ่งเป็นซัพพลายเชนส่งออกไปจีน 
 
• บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) อาทิ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ศูนย์รวบรวมและกระจายวัตถุดิบด้านอาหาร/สินค้า CBEC และอุตสาหกรรมประกอบรถจักรยานยนต์ EV
  
เนื่องด้วยไทย 1) มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเข้ามาอยู่อาศัยและทำธุรกิจ 2) มีแรงงานที่มีทักษะเป็นจำนวนมาก และ 3) มีความสัมพันธ์อันดีกับจีน ซึ่งมีสมาคมนักธุรกิจเชื้อสายจีนจำนวนมาก รวมทั้งมีการสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องกับจีน (Sister City) กว่า 36 คู่ทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่กับมหานครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน เพชรบูรณ์กับเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน และขอนแก่นกับนครหนานหนิง มณฑลกวางสีจ้วง เป็นต้น
 
2.2 ด้าน TDI:  นักธุรกิจไทยสามารถไปลงทุนในลาว ในธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ 
 
1) ธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์ ในรูปแบบการร่วมทุนกับผู้ประกอบการลาว เพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์ในการเดินรถข้ามไปยังประเทศข้างเคียง
 
2) ธุรกิจบริการที่ไทยมีความถนัด อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และนวดสปา อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยควรศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนให้ดีก่อนเข้าไปลงทุน
 
3) ธุรกิจเกษตร และปศุสัตว์ เพื่ออาศัยสิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกไปจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ตลอดจนการมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลจีนและลาว
 
4) อุตสาหกรรมที่เน้นใช้เทคโนโลยีและซัพพลายเชนในเขตการค้าเสรี หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีสิทธิประโยชน์และเอื้อต่อการลงทุน รวมทั้งการที่ลาวได้สิทธิ GSP ในการส่งออกไปยังประเทศที่ 3 
 
3. ด้านการท่องเที่ยว: เป็นโอกาสของไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มจีนตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ที่จะเข้ามาเที่ยวไทยแบบกลุ่มทัวร์เป็นจำนวนมาก
 
คนจีนในมณฑลยูนนานที่เป็นต้นทางของรถไฟสายนี้ มีจำนวนประชากรกว่า 47 ล้านคน ซึ่งหาก 1% ของประชากรเหล่านี้ มาท่องเที่ยวในไทย คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวได้ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาทต่อปี  และยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังมีโอกาสรองรับนักธุรกิจจีนที่อยู่ในลาวกว่า 1 ล้านคน ที่อาจข้ามมาเที่ยวในไทย โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนนิยมท่องเที่ยวในเมืองหลัก เช่น กรุงเทพฯ กระบี่ ภูเก็ต และเชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่การท่องเที่ยวไปเมืองรองยังคงมีข้อจำกัด 
 
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ในระยะแรก การท่องเที่ยวอาจไม่ได้เป็นโอกาสหลักของไทย คือ การที่ทางการจีนยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศได้ โดยคาดว่าทางการจีนจะอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงปี 2565-2566 หรือจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะสามารถอาศัยช่วงเวลานี้ในการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวแบบ New Normal  ที่จะหลั่งไหลเข้ามาตาม Pent-up Demand หลังจีนเปิดให้ประชาชนออกนอกประเทศได้อีกครั้ง
 
 
4. ด้านการขนส่ง จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการได้ และเป็นอีกทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงด้านการขนส่ง จากการศึกษาของธนาคารโลก ที่เปรียบเทียบค่าขนส่งระหว่าง 4 เส้นทาง (รูปที่ 3) พบว่า ประมาณการค่าขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาวที่เชื่อมต่อมายังไทยด้วยรถบรรทุกจะช่วยลดค่าขนส่งได้กว่า 1 ใน 3 ของค่าขนส่งทางถนนเดิม และหากรถไฟจีน-ลาวเชื่อมกับรถไฟไทยโดยสมบูรณ์ จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้มากกว่าครึ่งของการขนส่งทางถนนเดิม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโลจิสติกส์จะได้ประโยชน์จากการขนส่งแบบ Multimodal Transportation (รถบรรทุกไทยจะขนสินค้าไปเชื่อมกับรถไฟที่ลาว) 
 
ในระยะต่อไป หากรถไฟไทยสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ลาวได้โดยสมบูรณ์ จะมีปริมาณการใช้เส้นทางนี้เพิ่มมากขึ้น และเส้นทางนี้อาจเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ อาทิ มาเลเซียและสิงคโปร์ แทนการขนส่งทางถนนและทางเรือบางส่วน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การค้าโลกยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประเด็นการขนส่งจึงอาจยังไม่ใช่โอกาสสำคัญหลักที่ไทยจะได้รับในระยะสั้น ซึ่งไทยสามารถใช้ช่วงเวลานี้ในการเตรียมเส้นทางให้พร้อมรองรับการขนส่งที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต 
 
ปัจจัยสู่ความสำเร็จของไทยจากการเปิดหวูดรถไฟจีน-ลาว 
 
จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น งานศึกษานี้มีข้อสังเกตที่อาจช่วยให้ไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสครั้งนี้เพิ่มเติม ดังนี้
 
1. การตั้งศูนย์กระจายสินค้าเบ็ดเสร็จที่ใกล้ชายแดน อาจเป็นในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีหรือขอนแก่น เพื่อรองรับสินค้าที่จะเข้ามาและส่งออกไปยังจีน ซึ่งคาดว่าจะมีมากขึ้น และไทยยังไม่มีศูนย์กระจายสินค้าแบบเบ็ดเสร็จที่ครบวงจรมาก่อน
 
2. การมีโครงข่ายการขนส่งสินค้าทั้งทางรถและทางรางที่มีความพร้อม อาทิ สถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย เพื่อเป็นย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้าในฝั่งไทย สะพานข้ามแม่น้ำโขงของหนองคายทั้งสะพานเดิมและใหม่ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณการขนส่ง และลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมหากเส้นทางการขนส่งจากจีนผ่านแหลมฉบังไปยังประเทศอื่นมีความนิยมมากขึ้นเมื่อการค้าโลกกลับสู่ภาวะปกติ
 
3. การสนับสนุนสิทธิประโยชน์และโครงสร้างพื้นฐานในการลงทุน โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษของภูมิภาค ให้ทัดเทียมกับ EEC รวมถึงสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดและกระจายการลงทุนมายังภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกับทางรางทั้งวัตถุดิบและสินค้า 
 
4. การเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ 1) การพัฒนาท่องเที่ยวเมืองรองเชื่อมโยงเส้นทางจีน-ลาว-ไทย อาทิ เส้นทางท่องเที่ยวคุนหมิง-เวียงจันทน์-อุดรธานี-ภูเก็ต รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวนอกฤดูกาล (Off-season) ในเมืองรอง  และ 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบขนส่งภายในและระหว่างจังหวัดในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง 

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของจีน อาจทำให้เกิดการแข่งขันกับธุรกิจไทยมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด ดังนั้น ไทยควรเร่งเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบในทุก ๆ มิติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ต.ค. 2564 เวลา : 11:02:47
26-12-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (26 ธ.ค.67) ลบ 5.02 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,395.83จุด

2. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะเคลื่อนไหวในกรอบแนวรับที่ระดับ 2,610 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,645 เหรียญ

3. ประเทศไทยอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศา "ยอดดอย" หนาวถึงหนาวจัด 5 องศา "ยอดภู" 7 องศา

4. ตลาดหุ้นไทยเปิด (26 ธ.ค.67) ลบ 0.03 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,400.60 จุด

5. ทองเปิดตลาดวันนี้ (26 ธ.ค. 67) ปรับขึ้น 150 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 43,050 บาท

6. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 ธ.ค.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์

7. ประกาศ กปน.: 26 ธ.ค. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนแจ้งวัฒนะตัดถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด

8. ตลาดหุ้นปิด (25 ธ.ค.2567) บวก 6.18 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,400.85 จุด

9. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 ธ.ค.2567) บวก 4.35 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,399.02 จุด

10. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (24 ธ.ค.67) พุ่ง 390.08 จุด หุ้นเทคฯ-หุ้น Growth Stocks หนุนตลาด

11. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (24 ธ.ค.67) บวก 7.30 เหรียญ ตลาดจับตาทิศทางดอกเบี้ยเฟด

12. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,605 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,640 เหรียญ

13. "ยอดดอย" หนาวถึงหนาวจัด 5 องศา มีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ "ยอดภู" 7 องศา "กรุงเทพปริมณฑล-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก" อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศา

14. ตลาดหุ้นไทยเปิด (25 ธ.ค.67) บวก 5.68 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,400.35 จุด

15. ทองเปิดตลาดวันนี้ (25 ธ.ค. 67) "คงที่" ทองรูปพรรณ ขายออก 42,850 บาท

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 26, 2024, 3:06 pm