ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
15 ปี กบข. สร้างผลตอบแทนสะสมกว่า 200,000 ล้านบาท


กบข.จัดงานประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิก รายงานผลการดำเนินงานปี 2554 สินทรัพย์สุทธิ ณ สิ้นปีอยู่ที่ 523,055 ล้านบาท สร้างผลตอบแทนการลงทุนสะสมตลอด 15 ปี จำนวน 213,941 ล้านบาท มองปัจจัยเสี่ยงการลงทุนปีนี้ต้องจับตานโยบายการเมืองต่างประเทศ หวั่นผลกระทบจากการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่ขยายตัวช้ากว่าในอดีต พร้อมใช้กลยุทธ์ถือครองตราสารหนี้ระยะสั้น กระจายการลงทุนในตลาดเอเชียและการลงทุนทางเลือก เพื่อรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจผันผวน
 

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. ได้จัดงานประชุมใหญ่ผู้แทนสมาชิกในวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ เพื่อรายงานผลการดำเนินงาน ฐานะการเงินและการรับจ่ายเงินของกองทุนประจำปี 2554 โดยมีผู้แทนสมาชิก กบข. จากหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 500 คน
 

สำหรับปี 2554 ที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ วิกฤติหนี้สาธารณะและนโยบายการเมืองที่ไม่ชัดเจนของกลุ่มประเทศยุโรป ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสั่นคลอนส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ในขณะที่ธนาคารกลางหลายแห่งใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยและคงระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุนตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงปลายปีอีกด้วย กบข. มีสินทรัพย์สุทธิ ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ 523,055 ล้านบาท(ประกอบด้วยเงินกองทุนสมาชิก 389,681 ล้านบาท และเงินกองทุนสำรอง 133,374 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 39,035 ล้านบาทจากปี 2553 หรือคิดเป็นร้อยละ 8 โดยสามารถสร้างผลประโยชน์ที่รับรู้แล้ว (Realized Gain) รวม 28,504 ล้านบาท (ประกอบด้วยเงินปันผล ดอกเบี้ยรับ ค่าเช่า จำนวน 18,125 ล้านบาท กำไรจากการขายหลักทรัพย์ 10,379 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 23 แต่เนื่องจากสถานการณ์ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนในปี 2554 ทำให้สินทรัพย์ลงทุนมีการปรับมูลค่าลดลง (Unrealized Loss) 12,208 ล้านบาท ส่งผลให้ กบข. สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในปี 2554 ได้ที่ 16,296 ล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาผลตอบแทนการลงทุนในระยะยาวที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของ กบข. จะพบว่าตลอดระยะเวลา 15 ปีนับแต่จัดตั้งกองทุน กบข. สร้างผลตอบแทนการลงทุนสะสมรวมทั้งสิ้น 213,941 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนผลตอบแทนสะสมของกองทุนสมาชิก 185,994 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสำหรับสมาชิกที่ร้อยละ 6.96 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าทั้งอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาวและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
 

“ในปี 2555 กบข. ได้วางแผนการลงทุนเพื่อรองรับความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนตามปัจจัยเสี่ยงข้างต้น รวมทั้งเตรียมพอร์ตการลงทุนเพื่อรองรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในไทย ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2555 โดยจะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น กระจายการลงทุนมายังสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในยุโรปน้อย เช่น ตราสารทุนและตราสารหนี้ในเอเชีย และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางเลือก เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐาน และอสังหาริมทรัพย์โลก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอในระยะยาว” นายอารีพงศ์กล่าว
 

ด้านนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กบข. กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากด้านการลงทุนที่ กบข. วางกลยุทธ์พอร์ตลงทุนให้พร้อมรับสภาพตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีความผันผวนสูงแล้ว กบข. ยังให้ความสำคัญด้านสมาชิก โดยในปีนี้ กบข. มีแผนสร้างความผูกพันกับสมาชิกทุกช่วงชีวิต (Lifetime Partnership) ด้วยสวัสดิการที่หลากหลายสำหรับสมาชิกทุกกลุ่มอายุ
 

นอกจากนี้ กบข.ยังมีแผนกระตุ้นในสมาชิกออมเพิ่มกับ กบข. โดย กบข.เปิดโอกาสให้สมาชิกออมเพิ่มสูงสุดไม่เกินร้อยละ 12 จากปกติที่สมาชิกออมกับ กบข. เดือนละ 3 ของเงินเดือน เพื่อให้สมาชิกมีเงินออมเพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณ ดังนั้น ในปีนี้ กบข.จึงได้จัดโครงการออมเพิ่ม เสริมทักษะ ให้สิทธิ์เรียนภาษาอังกฤษหรือคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับสมาชิกที่ออมเพิ่มสูงสุดร้อยละ 12 ในปีนี้ และเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลให้แก่สมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในปีนี้ กบข. จึงได้จัดทำโครงการพันธมิตร กบข. ที่เป็นกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่อง กบข.และยินดีเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่าง กบข. และสมาชิก โดยจะดำเนินการทั้งสิ้น 3 โครงการด้วยกัน ได้แก่ พันธมิตรผู้แทนสมาชิก พันธมิตรวิทยากรตัวคูณ และพันธมิตรสื่อส่วนราชการ

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 มิ.ย. 2555 เวลา : 15:20:24

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 8:17 am