ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
HSBC มอง 5 ปีข้างหน้า อินเดีย-จีน เป็นประเทศนำเข้าสูง ชี้ไทยได้ประโยชน์ส่งออกพุ่ง


เอชเอสบีซี เผยบทวิเคราะห์การค้าโลก คาดอินเดียและจีนจะมีมูลค่าการนำเข้าเติบโตแซงหน้ามูลค่าการส่งออกในอีก 5 ปีข้างหน้า และมองว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก

การคาดการณ์ของเอชเอสบีซี สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่เริ่มเห็นได้ชัดว่าตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตจากการส่งออกจะกลายเป็นศูนย์กลางของการค้าในระดับโลก และเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

นางจุฑามาส เรืองวณิช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเครือข่ายธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จีนและอินเดียเป็นคู่ค้าหลักของประเทศในแถบเอเชียรวมทั้งไทย  การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของสองเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ในเอเชียจึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการเติบโตธุรกิจการค้ากับจีนและอินเดีย

มูลค่าการนำเข้าของจีนจะเติบโตแซงหน้ามูลค่าการส่งออกในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.1 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ เป็นผลจากความต้องการสินค้าทั่วไปและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกของจีนไปยังประเทศที่พัฒนาแล้วมีมูลค่าลดลง ขณะเดียวกัน อินเดียจะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกและนำเข้าที่เติบโตเร็วที่สุดของเอเชีย โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 5 และร้อยละ 7 ตามลำดับ ทั้งนี้ จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยมูลค่าส่งออกของไทยไปจีนคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าส่งออกรวม ซึ่งสูงกว่าการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปอย่างมาก การนำเข้าที่เติบโตเพิ่มขึ้นของจีนจะช่วยกระตุ้นการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลัง ในช่วงเวลาที่สหภาพยุโรปยังอยู่ในภาวะถดถอย

การนำเข้าของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจหลักของเอเชียเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลงทุนเพื่อก่อสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้งการลงทุนใหม่ โดยกระทรวงพาณิชย์เผยมูลค่าการส่งออกของไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.85 ล้านล้านบาท ส่วนมูลค่าการนำเข้า คิดเป็น 3.19 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.8 และร้อยละ 14.0 ตามลำดับ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 641.14 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 703.03 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“เรายังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และเห็นแนวโน้มว่าผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายเริ่มปรับตัวด้วยการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน หันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ”นางจุฑามาสกล่าว

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าของเอชเอสบีซี ระบุว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นยังคงมีเสถียรภาพดี โดยมีดัชนีความเชื่อมั่นทางการค้าทั่วภูมิภาคเอเชีย อยู่ที่ระดับ 113 เทียบกับระดับ 112 ของเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และบทวิเคราะห์ของเอชเอสบีซี ยังเปิดเผยว่า ร้อยละ 71 ของผู้ประกอบการค้าทั่วโลก คาดว่าปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นหรือทรงตัวใน 6 เดือนข้างหน้า

นายโนเอล ควินน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ธุรกิจในเอเชียกำลังปรับตัวรับกระแสความท้าทายของโลก และพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงในอีก 5 ปีข้างหน้า เรามั่นใจว่าเอเชียจะยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกต่อไป โดยมีการนำเข้าที่เติบโตอย่างมากของอินเดียและจีน รวมทั้งบรรยากาศการค้าทั่วภูมิภาคเอเชียที่ยังคงสดใส เป็นปัจจัยเกื้อหนุน

ส่วนบทวิเคราะห์การค้าของเอชเอสบีซี เปิดเผยว่า 10 ใน 15 อันดับแรกของคู่ค้าในเอชีย แปซิฟิกเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกระทั่งถึงปี 2569  และ 9 ใน 15 ประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของจีน และ 6 คู่ค้าที่เติบโตเร็วที่สุดจนถึงปี 2559 ล้วนมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ 6 ประเทศผู้ส่งออกไปยังอินเดียที่เติบโตเร็วที่สุดจนถึงปี 2559 หากไม่ได้อยู่ในเอเชีย ก็อยู่ในตะวันออกกลาง

เอชเอสบีซี คาดว่า บราซิลติด 10 อันดับตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงของประเทศในภูมิภาคเอชียแปซิฟิกทุกประเทศ และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า บราซิลจะกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกที่เติบโตเร็วที่สุดของเอเชีย แปซิฟิก และจะเป็นประเทศผู้นำเข้าที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับสองของเอเชีย แปซิฟิก  โดยจะเติบโตร้อยละ 10 และร้อยละ 9 ต่อปีตามลำดับ โดยเฉพาะการนำเข้าสินแร่เหล็กของบราซิลจากจีนที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ11 ต่อปี จนกระทั่งถึงปี 2559 นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ยังระบุว่า ประเทศผู้นำเข้าของละตินอเมริกา 5 อันดับแรก ใน 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ อินเดีย จีน ไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงของโลก การนำเข้ารถยนต์ในเอเชียคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6 ต่อปีจนถึงปี 2559 โดยการนำเข้ารถยนต์ของจีนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12 ต่อปีจนถึงปี 2559 ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มของความมั่งคั่ง ในขณะที่อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกรถยนต์ที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 13 ต่อปี

อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยก็เติบโตเร็วเช่นกันทั้งด้านนำเข้าและส่งออก การส่งออกรถยนต์ของไทยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 10.05 และการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 7.38 ต่อปีจนถึงปี 2559 ส่วนการส่งออกยางรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 9.91 ในขณะที่การนำเข้าเครื่องยนต์จากญี่ปุ่นคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.86

ด้วยการเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง อุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์และสาธารณูปโภคของไทยจึงเติบโตสูง โดยคาดว่าการส่งออกยางไม่คงรูป ยางคงรูปและยางที่ไม่ได้ผสมสารเสริมแรงไปจีนจะเติบโตร้อยละ 15.99 และร้อยละ 7.31 ต่อปี ตามลำดับ ขณะเดียวกัน ไทยก็ได้นำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าเพื่อใช้ในการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคภายในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

บทวิเคราะห์ของเอชเอสบีซี ยังคาดว่า ไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเป็นผู้ป้อนสินค้าและวัตถุดิบให้แก่ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยก็ยังเติบโตได้ดี โดยสามารถผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม และมีมูลค่าเพิ่มสูง สำหรับผู้ประกอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการฉกฉวยโอกาสทางการค้า จำเป็นต้องเติบโตธุรกิจราวร้อยละ 5.0 ต่อปีตลอด 5 ปีข้างหน้า

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มิ.ย. 2555 เวลา : 11:40:33

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:03 pm