ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เมย์แบงก์กิมเอ็ง คาดการณ์สิ้นปี กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%


บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ออกบทวิเคราะห์  "เศรษฐกิจไทยใน 2Q55 ขยายตัวดีกว่าที่คาด แต่ downside ยังมี" ระบุว่า   GDP ใน 2Q55 ขยายตัว 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

สศช. รายงานตัวเลข GDP ไทยใน 2Q55 ขยายตัว 4.2%yoy ดีกว่าตลาดคาดที่ 3.0% yoy แต่ต่ำกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดที่ +4.9% yoy จาก 1Q55 ที่ขยายตัว 0.3% yoy หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.3% qoq

แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ที่ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ การเร่งลงทุนและซ่อมแซมเครื่องจักรที่เสียหายจากวิกฤตน้ำท่วม รวมถึงการฟื้นฟูกำลังการผลิตให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนน้ำท่วม ส่วนประกอบที่สำคัญมีดังนี้

? ภาคการบริโภค: ขยายตัว 5.3% yoy เทียบกับ 1Q55 ที่ +2.9% yoy นำโดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะยานยนต์ตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล เป็นปัจจัยหนุนอำนาจซื้อของผู้บริโภค ภายใต้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

? ภาคการลงทุน: ขยายตัวโดดเด่น 10.2% yoy จาก 1Q55 ที่ขยายตัว 5.2% yoy โดยเป็นการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อฟื้นฟูกำลังการผลิตที่เสียหายจากวิกฤตน้ำท่วม กอปรกับการเร่งก่อสร้างโครงการที่หยุดชะงักในช่วงปลายปีที่แล้ว สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการลงทุนในประเทศ

? การใช้จ่ายของภาครัฐ: ขยายตัว 5.6% yoy ปรับตัวดีขึ้นจาก 1Q55 ที่ -0.2% yoy จากการลงทุนในโครงการของรัฐบาล อาทิ การเบิกจ่ายเงินเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ที่ได้ทยอยลงทุนอย่างต่อเนื่อง

? การส่งออกสินค้าและบริการฟื้นตัวเล็กน้อยเพียง +0.9% yoy จาก 1Q55 ที่ -3.2% yoy การส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ โลหะ เครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและเครื่องนุ่งห่มยังหดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของอุปสงค์จากยุโรป

? การนำเข้าขยายตัวต่อเนื่อง +8.5% yoy จาก 1Q55 ที่ +4.3% yoy ตามการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อเร่งติดตั้งและทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว  จากตัวเลขยอดนำเข้าที่ขยายตัวมากกว่ายอดส่งออก ส่งผลให้ไทยรายงานสถานะขาดดุลการค้าในอัตราเร่ง -US$4.48 หมื่นล้าน จาก 1Q55 ที่ -US$1.28 หมื่นล้าน

@จับตาตลาดส่งออกใน 2H55 ตัวแปรสำคัญ

แม้ว่า 1H55 ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมในปลายปีที่ผ่านมาได้เร่งติดตั้งเครื่องจักรให้กลับสู่ระดับปกติก็ตาม แต่ความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่ส่อเค้ายืดเยื้อและหาทางออกของการแก้ไขปัญหาได้จำกัด กลายเป็นชนวนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกในเอเชีย นอกจากนี้ ตลาดส่งออกหลักของเอเชียอย่างสหรัฐฯ เศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบาง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้อย่างจำกัดเพราะเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. จึงทำได้เพียงการผ่อนคลายนโยบายการเงิน แต่ก็มีผลต่อระบบเศรษฐกิจจำกัดเท่านั้น เมื่อตลาดส่งออกหลักของเอเชียทั้งสหรัฐฯและยุโรปมีปัญหาทั้งเศรษฐกิจและเชิงนโยบายการคลัง ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกในเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจีน ณ ปัจจุบันเริ่มเห็นความเสี่ยงต่อการเติบโตต่ำกว่าเป้าที่ 7.5% ภาพรวมเช่นนี้น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สภาพัฒน์ฯปรับลดเป้าหมายการส่งออกไทยปีนี้ลงเหลือ 7.3% จากเดิม 15.1% รวมถึงปรับลดเป้าหมาย GDP ปี 2555 ลงเหลือ 5.5-6.0% จากเดิม 5.5-6.5%

ขณะที่ KELIVE มีมุมมองแบบอนุรักษ์นิยมมาก่อนหน้านี้ โดยให้น้ำหนักกับความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกในปี 2555 จะทำได้เพียง 6.2% yoy เท่านั้น การพึงพิงภาคการบริโภค การลงทุนและการเร่งใช้จ่ายของรัฐบาลยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 2H55 โดย KELIVE คาดการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 5.2% ต่ำกว่าเป้าหมายของ 3 สำนักของทางการ

@ความเสี่ยงที่สูงขึ้นอาจเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยในสิ้นปีนี้

หากประเมินจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงต่อการเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายของหลายๆสำนักและเป็นที่มาที่ไปของการปรับเปลี่ยนแนวโน้มนโยบายการเงินของหลายๆประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งภายใน 1 เดือนทั้งเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา KELIVE ประเมินว่า แนวโน้มที่การประชุม กนง.ในช่วงปลายปีนี้อาจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย RP1 วัน ลง 25 bps เป็น 2.75% เพื่อประคองเศรษฐกิจโดยรวมและป้องกันค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินความเป็นจริง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ส.ค. 2555 เวลา : 20:25:50

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:49 am