ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร 'บ. อยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง' ที่ 'A/Stable'


บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงสถานะเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากแรงหนุนของอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเองอันเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นจากบริษัทแม่ คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ในกลุ่มธุรกิจการเงินแบบ Solo Consolidation ของธนาคารสำหรับธุรกิจสินเชื่อให้เช่าแบบลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้รับอันดับเครดิตที่ระดับ “AA-“ ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” จากทริสเรทติ้ง
        
 แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าแนวทางธุรกิจของบริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่งจะยังคงใกล้ชิดและเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ธุรกิจของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาโดยบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคาร แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความสามารถของผู้บริหารของบริษัทที่จะดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลัก ตลอดจนสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ และดำรงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับที่เพียงพอ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะดำรงฐานทุนที่เพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยงของคุณภาพเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน
        
 ทริสเรทติ้งรายงานว่า อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่งสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้เช่าแบบ ลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรม ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งความสามารถในการขยายสินเชื่อและรักษาต้นทุนการดำเนินงานให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนจากการที่บริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีคุณภาพเครดิตอ่อนแอกว่ากลุ่มลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ โดยกลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจมากกว่า บริษัทยังคงมีความเสี่ยงสูงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าแม้ว่าจะกระจายตัวมากขึ้น และทริสเรทติ้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของสินทรัพย์จากลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีก่อนอาจจะมีคุณภาพด้อยลงในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานทุนที่อ่อนแอลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการขยายสินเชื่อโดยใช้เงินจากการกู้ยืม
        
 ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ดำเนินนโยบายการเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจรและกำหนดให้บริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่งเป็นหน่วยงานเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ปี 2547 ในปี 2551 บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ซึ่งส่งผลให้บริษัทดำเนินธุรกิจใกล้ชิดและสอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจของธนาคารโดยให้บริการสินเชื่อทั้งแก่ลูกค้าของธนาคารและลูกค้าอื่น ๆ การสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากธนาคารช่วยยกระดับสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้แก่บริษัท ณ ปัจจุบัน เงินกู้ยืมทั้งหมดของบริษัทยกเว้นตั๋วแลกเงิน เป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กิจกรรรมการดำเนินงานของบริษัททั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้การติดตามดูแลและควบคุมของธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัทได้การสนับสนุนจากธนาคารในการพัฒนาระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมกับธุรกิจลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่กำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
        
 สินเชื่อรวมของผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวน 11 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2554 เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่งเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำตลาด โดยสินเชื่อรวมคงค้างของผู้ประกอบการรายใหญ่ 11 รายในปี 2554 อยู่ที่ 57,967 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.7% จาก 43,038 ล้านบาทในปี 2553เทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้น 8.7% ในปี 2553 ในบรรดาผู้ประกอบการทั้ง 11 ราย บริษัทมีสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 ในปี 2550 บริษัทมีสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 แต่ปรับลดลงมาเป็นอันดับ 2 ในปี 2551 อันเป็นผลจากการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นจำนวน 2 รายในปี 2551 อย่างไรก็ตาม บริษัทกลับมาเป็นผู้นำตลาดอีกครั้งในปี 2554 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 25.9% ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 23.7% ในปี 2553 อันเป็นผลมาจากการที่สินเชื่อของบริษัทมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมากกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
        
 ในปี 2554 บริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่งมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิที่ 449 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 17.1% จาก 384 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อรวมที่ระดับ 47.1% เป็น 14,992 ล้านบาทในปี 2554 จาก 10,194 ล้านบาทในปี 2553 ผู้บริหารของบริษัทมีความสามารถในการจัดโครงสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความ เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายแทนที่จะเสนอสินค้าทั่วไป ๆ เหมือนผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดเฉพาะที่ผู้ประกอบการรายอื่นยังเข้าไม่ถึง ทำให้สินเชื่อของบริษัทขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม บริษัทใช้เงินจากการกู้ยืมสำหรับการขยายสินเชื่อจำนวนมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเป็นหลัก ส่งผลให้อัตราส่วนโครงสร้างเงินทุนลดลง ซึ่งเห็นได้จากอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมที่ลดลงจาก 18.5% ในปี 2550 เป็น 10.7% ในปี 2554
        
 บริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่งมีกำไรสุทธิ 458 ล้านบาทในปี 2554 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 105.8% จาก 223 ล้านบาทในปี 2553 อันเป็นผลมาจากธุรกิจของบริษัทที่ขยายตัวกับรายการพิเศษที่เกิดจากหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีซึ่งทำให้บริษัทสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายทางภาษีในปี 2554 หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว บริษัทจะมีกำไรปกติที่ 323 ล้านบาท ซึ่งยังคงถือว่าเพิ่มขึ้น 44.8% จากปี 2553 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สุทธิจากเงินประกันการเช่า) ต่อเงินให้สินเชื่อรวม (สุทธิจากเงินประกันการเช่า) เพิ่มขึ้นเป็น 9.0% ณ สิ้นปี 2554 จาก 6.1% ในปี 2553 คุณภาพของสินทรัพย์ที่ด้อยลงเกิดจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ถึงแม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ที่ระดับ 5.5% (งบยังไม่ได้ตรวจสอบ) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 แต่ความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น 2.00% ในปี 2554 จาก 2.30% ในปี 2553 และ 2.34% ในปี 2552
         
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ส่งผลให้บริษัทมีโอกาสที่จะมีความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าเพิ่มขึ้นจากคุณภาพสินเชื่อที่ลดลงในช่วงเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ การที่บริษัทเน้นลูกค้ารายใหญ่ในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนเองยังส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงสูงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ บริษัทพยายามลดการกระจุกตัวของลูกค้าโดยการกระจายฐานลูกค้าให้มีมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการลดลงของสัดส่วนสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่ 10 รายแรกเมื่อเทียบกับสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ 10 รายแรกในปี 2554 ลดลงอย่างมากเหลือเพียง 23.4% จาก 40.0% ในปี 2551, 36.6% ในปี 2552 และ 30.9% ในปี 2553 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังได้ประโยชน์จากการมีต้นทุนดำเนินงานในระดับต่ำจากผลของการเน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่โดยในปี 2554 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงมาอยู่ที่ 7.9% จาก 10.9% ในปี 2553 ซึ่งน้อยกว่าระดับ 20%-30% ของคู่แข่ง ทริสเรทติ้งกล่าว

          บริษัท อยุธยา ดีเวลลอปเมนท์ ลีสซิ่ง จำกัด (ADLC)
          อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A
          แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)
 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ก.ย. 2555 เวลา : 16:07:46

08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 6:39 pm