ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แบงก์ชาติแจงภาพรวมเศรษฐกิจเดือน ธ.ค. 55


ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธันวาคม 2555 ชะลอลง หลังจากที่ขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า
ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังดีอยู่ โดยการจ้างงานขยายตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นยังมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี และเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว และดุลการชำระเงินเกินดุล

การวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนนี้ยังใช้การเปรียบเทียบกับข้อมูลในเดือน ก่อนหน้า (ปรับฤดูกาล)เพื่อให้สามารถสะท้อนแรงส่งของเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่าการเปรียบ เทียบกับข้อมูลของเดือนเดียวกันปีก่อนที่ผิดปกติจากผลของฐานที่ต่ำจาก อุทกภัย รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคมมีดังนี้

การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อนหลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.9 จากเดือนก่อน ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต่ำลง
สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ที่ลดลง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดยานยนต์ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงกว่าปกติมาก จากการที่ผู้ผลิตรถยนต์เร่งผลิตเต็มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบ รถยนต์ให้ผู้บริโภค ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หลังจากที่ผู้ประกอบการ ได้เร่งนำเข้าเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนในภาคการก่อสร้างส่วนหนึ่งมีข้อจำกัดจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน

การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 17,955 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
ปิโตรเลียม และเหล็กลดลงจากที่มีการเร่งส่งออกไปแล้วในช่วงก่อนหน้า แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในหมวดยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังขยายตัวดี และการส่งออกยางพาราเริ่มฟื้นตัวจากความต้องการจากจีนที่เพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวนสูงถึง 2.4 ล้านคนตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากจีน อาเซียน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเป็นสำคัญ

อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกที่ชะลอลงในเดือนนี้สอดคล้องกับการหดตัวของการ ผลิตภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้า โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 5 จากการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปิโตรเลียม และอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบค่อยๆ ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย ส่วนการผลิตยานยนต์ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ด้านการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 17,672 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยปริมาณการนำเข้าหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน รวมทั้งการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ลดลง

แม้การใช้จ่ายชะลอลงบ้าง แต่รายได้ของประชาชนยังขยายตัวดี รายได้เกษตรกรขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 2.5 เพราะแม้ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามราคาข้าวและ
ปาล์มน้ำมันที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอลง แต่ผลผลิตเกษตรขยายตัวจากการเร่งเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อให้ทันการทำนาปรังรอบ ใหม่จากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ภัยแล้ง และผลผลิตปาล์มน้ำมัน
ที่เพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ส่วนในภาคนอกเกษตร การจ้างงานยังมีแนวโน้มขยายตัวดีสอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ต่ำต่อเนื่อง ภาครัฐ รายจ่ายรัฐบาลลดลงตามรายจ่ายเงินโอนที่ได้เร่งโอนให้กองทุนหมู่บ้านและกอง ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาไปแล้วในช่วงต้นปีงบประมาณ ขณะที่รายจ่ายเพื่อการลงทุนใกล้เคียงกับเดือนก่อน เมื่อประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเหลื่อมเดือนของการนำ ส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล และการนำ ส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ 3G รัฐบาลจึงเกินดุลเงินสด 8.6 พันล้านบาทในเดือนนี้

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.63 จากราคาอาหารสด โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ที่ผันผวน แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.78 ดุลการชำระเงินเกินดุลจาก
การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการเข้ามาลงทุนใน ตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารทุนภาคเอกชนของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการกู้เงินระยะสั้นของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ

สรุปทั้งปี 2555 ภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวจากปีก่อนจากการเร่งซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัยของ ภาคเอกชน ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และภาวะ
การเงินที่เอื้ออำนวย แม้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วง กลางปีเป็นต้นมา แต่ผลกระทบจำกัดอยู่เฉพาะการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เน้น ผลิตเพื่อการส่งออกเศรษฐกิจมีเสถียรภาพดีโดยรวม อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวจากปีก่อนตามราคาอาหารสดที่ชะลอลงเป็นสำคัญ ดุลการชำระเงินเกินดุลมากขึ้นจากปีก่อนจากทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและ ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ม.ค. 2556 เวลา : 15:21:45

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:48 am