ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บมจ.ไทยออยล์ : วิเคราะห์ราคาน้ำมัน " น้ำมันคงคลังสหรัฐฯ เพิ่ม ขณะที่ IEA ลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันฉุดเวสต์เท็กซัส"



 
เบรนท์ส่งมอบเดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 0.06 ปิดที่ 118.72 เหรียญฯ ส่วนเวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน มี.ค.(วันสิ้นสุดสัญญา) ปรับลดลง 0.50 ปิดที่ 97.01 (ส่วนเบรนท์ส่งมอบเดือน เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้น 0.13 มาปิดที่ 117.88 เหรียญ)
 
- น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่สหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น โดย สำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐฯ(EIA) รายงานว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังเพิ่มขึ้น 560,000บาร์เรล มาอยู่ที่ 372.2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ 
 
- สำนักงานพลังงานสากล(IEA) ปรับลดการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2556 ลง 90,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์เดือนก่อนหน้า โดยมีการขยายตัวที่ 840,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 90.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับตามการปรับลด GDP โลกของ IMF จาก 3.6 มาอยู่ที่ 3.5
 
- ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมกราคม แตะที่ระดับ 4.166 แสนล้านดอลลาร์ ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 0.5% ในเดือนธันวาคม เนื่องจากการขึ้นภาษีและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง  ในขณที่ GDP ญี่ปุ่นหดตัว 0.1% ในไตรมาส 4/2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
 
+ ท่อส่งน้ำมันดิบ Seaway Pipeline ได้เปิดให้มียื่นขอใช้ท่อส่งน้ำมันดิบ เพื่อระบายน้ำมันดิบจากบริเวณคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ซึ่งถือว่าเร็วว่าการยื่นเสนอที่ท่อส่งอื่นๆถึง 10 วัน เนื่องจากความต้องการใช้ท่อมากกว่าความคาดหมาย
 
+ น้ำมันดิบเบรนท์ได้รับแรงหนุนจากผลสำรวจจากReuters ที่คาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสนี้ หลังจากติดลบ 0.4% ในไตรมาส 4/2555 และจะสามารถกลับมาเติบโตได้ภายในเดือนมิถุนายน 2556
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อันเป็นผลต่อเนื่องจากการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตรงกับช่วงเวลาปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในภูมิภาค
 
ราคาน้ำมันมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากขาดโอกาสในการส่งน้ำมันไปขายยังยุโรป ถึงแม้ว่าจะมีโรงกลั่นในภูมิภาคปิดซ่อมบำรุง
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นและปัจจัยที่น่าจับตามอง
 
กรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ เบรนท์ 112 -120 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัส  92-100 เหรียญฯ ติดตามผลการประชุมรัฐมนตรีการคลังยุโรปและความขัดแย้งทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนวันนี้ติดตามจีดีพีไตรมาส 4 ของยูโรโซน เยอรมนีและฝรั่งเศส ยอดขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานสหรัฐฯ
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ / ผลประกอบการไตรมาส 4/55 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ได้แก่
 
วันศุกร์: การผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ม.มิชิแกน) ผลสำรวจดัชนีภาคอุตสาหกรรมของรัฐนิวยอร์ค ดุลการค้ายูโรโซน รวมทั้งการประชุมกลุ่มประเทศ G20  
 
- ติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป หลังนายมาเรียโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปนถูกฝ่ายค้านกดดันให้ลาออกหลังถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการคอร์รัปชั่น รวมทั้งมีความกังวลต่อผลการเลือกตั้งของอิตาลีที่จะมีขึ้นในวันที่ 24-25 ก.พ. โดยโพลล่าสุดพบว่านายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งชูนโยบายยกเลิกมาตรการรัดเข็มขัดกำลังมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรของทั้ง 2 ประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นและสร้างความกังวลให้กับตลาด
 
- ติดตามปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลโจมตีรถบรรทุกอาวุธที่คาดว่าจะถูกส่งจากซีเรียไปยังกลุ่มหัวรุนแรงในเลบานอน ประกอบกับต้องติดตามท่าทีของอิหร่านซึ่งประกาศเป็นพันธมิตรกับซีเรียต่อสถานการณ์ดังกล่าว 
 
- ติดตามความวุ่นวายทางการเมืองในแอฟริกาเหนือ หลังนายกฯ ตูนิเซียประกาศยุบสภา เนื่องจากไม่สามารถทนแรงกดดันของประชาชนที่ออกมาประท้วงจากเหตุลอบสังหารผู้นำพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปฏิวัติประเทศครั้งที่ 2 หลังตูนิเซียเคยเป็นต้นแบบในการโค่นล้มอำนาจผู้นำเผด็จการ (Arab Spring) ตั้งแต่ปลายปี 2553
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.พ. 2556 เวลา : 11:10:51

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 5:01 pm