ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รัฐบาลลดธงเตรียมประกาศใช้ พ.ร.ก.ความมั่นคงฯในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนภาคใต้


พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)เปิดเผย ภายหลังการหารือหน่วยงานความมั่นคง โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 
หลังเกิดเหตุวางระเบิดที่จังหวัดปัตตานีว่า ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการตรวจแห่งชาติ ยืนยันว่ายังสามารถความคุมสถานการณ์ได้ โดยจะเน้นการใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะเป็นประธานการประชุมบ่ายวันนี้ เพื่อหารือกระบวนการใช้ มาตรา 21 และ เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 จะรายงานสถานการณ์ล่าสุด คาดว่าจะได้ข้อสรุปในระดับหนึ่ง
 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อลดธงมาประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเวทีพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่ ตามกระบวนการมาตรา 21 ขณะที่ นายกรัฐมนตรี มีความเห็นสอดคล้องในการเน้นใช้ มาตรา 21 ที่นำไปสู่การใช้สันติวิธี เพื่อให้เกิดการสื่อสารร่วมกันในการหาทางออกของปัญหา ขณะนี้รอผลการพิสูจน์ทราบจากผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงมหาดไทย และ ศอ.บต. รายงานมาก่อนว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่จะลดจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเป็นการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
 
"ที่ประชุมมีมติให้ลดระดับความรุนแรงของสถาการณ์ลงโดยจะเปลี่ยนจากเดิมที่ประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดระดับลงเป็น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยใช้อำนาจของมาตรา 21 ใน พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ได้โดยง่าย และเพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาต่อไป  ส่วนจะมีพื้นที่ไหนบ้างนั้นต้องรอให้ทางจังหวัดส่งเรื่องขึ้นมาก่อน จากนั้นที่ประชุมจะมีมติอีกครั้งหนึ่ง"
 
เมื่อถามว่าจากสถานการบุกฐานนาวิกโยธินที่ผ่านมามีความรุนแรงมากแต่ที่ประชุมกลับมีมติให้ประกาศลดระดับความรุนแรงในพื้นที่ลง  พล.ท.ภราดร กล่าวว่า สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงอย่างที่กล่าว เพราะมีคนที่เคยบเป็นผู้ก่อความไม่สงบมาก่อนกลับตัวเข้ามาเจรจากับทางรัฐ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 20 คนแล้ว แต่ที่เห็นว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นนั้นเป็นเพราะประชาชนกำลังเข้าร่วมกับรัฐบาลทำให้ผู้ก่อความไม่สงบต้องใช้ความรุนแรงข่มขู่ไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่
 
พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เรื่องเคอร์ฟิวเป็นแค่แนวคิดริเริ่มของ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ใช่รัฐบาล ซึ่งเป็นความห่วงใยสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่เมื่อมาหารือให้ตกผลึกกันแล้ว ทั้งฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ พลเรือน ผู้นำศาสนา รวมทั้งฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนที่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ 100 % ว่าไม่สมควรจะต้องประกาศเคอร์ฟิว และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน ถ้าเปิดพื้นที่การพูดคุยกันก็จะลดโทนความรุนแรงลงได้เอง
 
 
เลขา สมช.กล่าวยืนยันด้วยว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยยุทธศาสตร์และกระบวนการสันติวิธีในการเปิดเวทีพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ส่วนการเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการหารือกับผู้นำมาเลเซียเกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชน 2 สัญชาติ และการเดินทางข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ก.พ. 2556 เวลา : 14:40:53

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:16 am