ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลังถูกกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่น้อยลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปและจีน


 ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงหลัง สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับลดการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบในปี 57 ลง 150,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 900,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ยังปรับลดการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้าลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นไปตามการคาดการณ์ของ OPEC และ EIA ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นน้อยลงกว่าที่คาดไว้ โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากเศรษฐกิจของยุโรปที่เผชิญกับภาวะเงินฝืดทำให้การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศจีน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงกดดันให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล

 
-  การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่าอยู่ที่ระดับ 810,000 บาร์เรลต่อวัน และรัฐบาลลิเบียคาดการณ์ว่าจะแตะระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนหน้า ส่งผลกดดันให้ปริมาณอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
 
- เงินดอลลาร์ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ต่อเนื่องกัน หลังจากนักลงทุนในตลาดทำการเก็งกำไรโดยเชื่อมั่นว่าจะเห็นการเดินหน้าลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตร (QE) หมดในเดือน ต.ค. และขึ้นอัตราดอกเบี้ยในกลางปีหน้า
 
+/- สหรัฐฯ เดินหน้าประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียตามสหภาพยุโรป โดยมาตรการของสหรัฐฯ จะทำการห้ามธนาคารและบริษัทต่างๆ ในรัสเซียเข้าถึงตลาดเงินของสหรัฐฯ ในการระดมเงินทุนและการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีวันครบกำหนดชำระมากกว่า 30 วัน โดยมาตรการนี้ครอบคลุมธนาคาร Sberbank ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของรัสเซีย และบริษัท Rostec ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของรัสเซีย นอกจากนั้นยังดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในส่วนของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่น้ำลึก เขตอาร์คติก และการสำรวจในชั้นหิน โดยจากเดิมคลอบคลุมเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี เป็นครอบคลุมในทุกด้านตั้งแต่การจำหน่ายสินค้า บริการ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าวทั้งหมด อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ จะทำการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวหากรัสเซียยอมถอนกองกำลังทหารและหยุดแทรกแซงในยูเครน
 
-  เศรษฐกิจของประเทศจีนในเดือน ส.ค. 57 ปรับตัวลดลง จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์ หากในเดือน ก.ย. เศรษฐกิจยังคงชะลอตัวจะส่งผลให้ GDP ใน Q3/14 อาจต่ำกว่าระดับ 7.0%
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นมากว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังมีความต้องการใช้น้ำมันเบนซินจากทางตอนเหนือของยุโรปตะวันตกและตะวันออกกลาง หลังโรงกลั่นในแถบดังกล่าวจะเข้าสู่ช่วงซ่อมบำรุง  อย่างไรก็ตามราคาถูกกดดันจากปริมาณสต๊อกน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์ที่ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 11.73 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 57
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานในภูมิภาคที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะจากอินเดียและไทย หลังอยู่ในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ยังคงมีปัจจัยหนุนจากปริมาณสต๊อกคงคลังที่สิงคโปร์ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ประกอบกับอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงหลังโรงกลั่นแห่งหนึ่งในอินโดนีเซียจะปิดซ่อมบำรุงตามแผนเริ่มตั้งแต่ 20 ก.ย. เป็นเวลา 30 วัน
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-96 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 96-102 เหรียญฯ
 
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
-จับตามองกลุ่ม OPEC ว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการจัดการกับอุปทานน้ำมันดิบที่มีอยู่จำนวนมากในตลาด ขณะที่ลิเบียสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศก็ตาม ล่าสุดปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่า 800,000 บาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะผลิตได้ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค.นี้ 
 
-นอกจากนี้แหล่งน้ำมันดิบ Buzzard บริเวณทะเลเหนือ ซึ่งมีกำลังการผลิต 200,000 บาร์เรลต่อวัน ได้กลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง หลังจากปิดซ่อมบำรุงเมื่อปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
 
-จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 ก.ย. นี้ ซึ่งตลาดมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดในปีหน้า หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดปริวรรตเงินตรามากขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
 
-จับตาผลของการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของอีซีบียังไม่แข็งแกร่งพอที่จะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจของ ยูโรโซนได้ 
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันพฤหัสดัชนีราคาผู้ผลิตจีน - ส.ค. 57
ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน - ส.ค. 57
วันศุกร์ยอดขายปลีกสหรัฐฯ - ส.ค. 57
การผลิตภาคอุตสาหกรรมยุโรป - ก.ค. 57
วันเสาร์ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน - ส.ค. 57
ยอดขายปลีกจีน - ส.ค. 57
วันจันทร์ดัชนีชี้วัดภาคการผลิตรัฐนิวยอร์ค - ก.ย. 57
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ - ส.ค. 57
วันอังคารดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ - ส.ค. 57
ยอดขายร้านค้าสาขา
วันพุธดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ - ส.ค. 57
อัตราเงินเฟ้อยุโรป  - ส.ค. 57

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2557 เวลา : 10:26:43

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 11:40 am