ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์วิเคราะห์ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่อ หลังอุปทานน้ำมันดิบยังคงปรับเพิ่มขึ้น


 - ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับตัวลดลงสาเหตุจากความกังวลปัญหาอุปทานล้นตลาด โดยล่าสุดแหล่งข่าวจากลิเบียเปิดเผยว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับที่ 490,000 บาร์เรลต่อวัน จากประมาณ 400,000  บาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ก่อนหน้า หลังลิเบียพยายามที่จะกลับมาดำเนินการผลิตแหล่งน้ำมัน El-feel และ Wafa ซึ่งมีกำลังผลิตประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม หลุมดังกล่าวยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เต็มที่เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศ ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำมันไปยังท่าเรือ Mellitah ได้ ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

 
- ตลาดยังคงได้รับผลกระทบจากความกังวลว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย Genscape เปิดเผยว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอคลาโฮมา ในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 13 มี.ค. คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านบาร์เรล นอกจากนั้น Goldman Sachs ยังเปิดเผยว่าผลของการปรับลดลงของปริมาณหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 866 หลุม จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 2 ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 
 
-/+ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านกลับมากดดันตลาดอีกครั้ง หลังจากล่าสุดอิหร่านออกมาเปิดเผยว่าการเจรจากับสหรัฐฯ ดูท่าว่าจะเป็นไปด้วยดี โดยหากการเจรจาระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจทั้ง 6 สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนกำหนดการที่ มิ.ย. 58  จะส่งผลให้อิหร่านสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เปิดเผยว่า การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวยังไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ภายในสิ้นเดือนนี้ เนื่องจากยังมีปัญหาในอีกหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ 
 
- BlueKhight Energy Partners หนึ่งในผู้ให้บริการเช่าคลังน้ำมัน ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอคลาโฮมา เปิดเผยว่าด้วยแนวโน้มของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่คุชชิ่ง คาดว่าจะเต็มถังในช่วงเดือน เม.ย. หรือ กลาง พ.ค. 58
 
+ จากรายงานของ OPEC ในเดือน มี.ค. 58 พบว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก ในเดือน ก.พ. 58 ปรับลดลง 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ 30.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิรักปรับลดลง ประกอบกับ ปริมาณการผลิตในลิเบียและไนจีเรียก็ปรับลดลงเช่นกัน
 
ราคาน้ำมันเบนซิน  ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ  เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่เริ่มเบาบางลง  โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม อุปทานในภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะตึงตัวมากขึ้นหลังจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในภูมิภาคในช่วงเดือน มี.ค. ถึง พ.ค. 58
 
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าน้ำมันดิบดูไบ  แม้ว่าอุปทานในภูมิภาคมีแนวโน้มจะลดลง จากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในภูมิภาค โดยอินเดียจะเริ่มปิดซ่อมบำรุงในช่วงเดือน มี.ค. ถึงประมาณ พ.ค. ทำให้การส่งออกน้ำมันดีเซลจากอินเดียลดลง ประกอบกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากเวียดนาม และศรีลังกา
 
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 42-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
 จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 17-18 มี.ค. นี้ว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดหรือไม่ หลังตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากกว่าคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ (nonfarm payroll) เดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 295,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 240,000 ตำแหน่ง ประกอบกับอัตราการว่างงานสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 51 ที่ระดับ 5.5% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 5.7% เมื่อเดือน ม.ค. หาก FED ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงได้
 
สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลิเบียยังคงปะทุต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ลิเบียต้องหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันกว่า 11 แห่งในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดลิเบียได้ปิดบ่อนํ้ามันอีก 2 บ่อ คือ Zella และ Fida ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังถูกโจมตีโดยกองกำลังของกลุ่มกบฏ โดยคาดว่ากำลังการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี สงครามกลางเมืองของลิเบียยังคงไม่สามารถหาทางออกได้ โดยล่าสุดรัฐสภาลิเบียได้ร้องขอให้สหประชาชาติ (UN) เลื่อนการเจรจาสันติภาพออกไปอีก  1 สัปดาห์ เพื่อให้มีเวลามากขึ้นในการหารือเกี่ยวกับแผนแม่บทของรัฐบาลชุดต่อไป
 
อุปสงค์นํ้ามันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังโรงกลั่นทั่วโลกได้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงประจำปี ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้
 
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตาม
วันจันทร์ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ - ก.พ.
วันอังคาร ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (YoY) - ก.พ.
ตัวเลขการจ้างงานยูโรโซน (YoY) - Q4
วันพุธ ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยจีน - ก.พ.
อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ
วันพฤหัสบดี จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ - 13 มี.ค.
วันศุกร์ ดัชนีภาคการผลิตจีน (HSBC PMI) - มี.ค.
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน - ก.พ.
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ - ก.พ.

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 มี.ค. 2558 เวลา : 11:12:12

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 1:03 pm