ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
คลังเผยปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะหนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง


 


กระทรวงการคลังรายงานว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 อนุมัติและรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2559 ครั้งที่ 1 มีวงเงินปรับเพิ่ม 13,252.04  ลบ. จากเดิม 1,728,170.21 ลบ. เป็น 1,741,422.25 ลบ. อย่างไรก็ดี การปรับปรุงแผนฯ ดังกล่าว ทำให้วงเงินก่อหนี้ใหม่ลดลง ทั้งสิ้น 25,780.03 ลบ. และวงเงินบริหารหนี้เดิม (การปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารความเสี่ยง) เพิ่มขึ้น 39,032.07 ลบ. ดังนี้

 
 
วงเงินก่อหนี้ใหม่ ปรับลดลงสุทธิ 25,780.03 ลบ.
 รายการที่สำคัญเกิดจาก

1. สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) ปรับลดวงเงินกู้สนับสนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 30,000 ลบ. เนื่องจาก สบพน. ไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน ประกอบกับเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ไม่เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการ สบพน. กำหนด

2. การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ปรับเพิ่ม 1,753.80 ลบ. เพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ 2558 (เพิ่มเติม) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558

3. บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บอท.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้น วงเงินรวม 2,638.29 ลบ. เพื่อเสริมสภาพคล่อง

วงเงินบริหารหนี้ ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 39,032.07 ลบ.
  รายการที่สำคัญเกิดจาก

1. กระทรวงการคลังปรับลดวงเงินบริหารหนี้สุทธิ 65,533.46 ลบ. เนื่องจาก
1.1 ปรับลดหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้ FIDF และหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันรวม 96,232.86 ลบ. เนื่องจากปลายปีงบประมาณ 2558 ได้มีการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของ FIDF รวมทั้งปรับลดวงเงินปรับโครงสร้างหนี้ ธ.ก.ส. เพื่อให้ ธ.ก.ส. บริหารจัดการหนี้เอง
1.2 ปรับเพิ่มวงเงินการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ให้กู้ต่อ 699.40 ลบ. เนื่องจากมีหนี้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 982.10 ลบ. ที่กู้มาช่วงปลายปี งปม. 2558 และปรับลดวงเงินปรับโครงสร้างหนี้ของ รฟม. วงเงินรวม 282.70 ลบ. ตามที่เบิกจ่ายจริง
1.3 ปรับเพิ่มวงเงินบริหารความเสี่ยงเงินกู้โครงการเพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 รวม 30,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระต้นทุนในการชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยในระยะยาว

                                          
 2. รัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง (กคช. ขสมก. และ ธ.ก.ส.) ปรับเพิ่มวงเงินการปรับโครงสร้างหนี้รวม 92,563.91 ลบ.

3. บริษัท วิทยุการบิน จำกัด (วทบ.) ปรับเพิ่มวงเงินบริหารความเสี่ยง 2,075.43 ลบ. โดยการ Refinance วงเงินกู้ดังกล่าว เพื่อประหยัดภาระดอกเบี้ย
4. บกท. ปรับเพิ่มวงเงินบริหารความเสี่ยง 9,926.19 ลบ. เนื่องจากจะทำ Cross Currency Swap (CCS) หรือ Interest Rate Swap (IRS) ตามความเหมาะสมของช่วงเวลาและสภาวะตลาด

 ผลที่คาดว่าจะได้รับกระทรวงการคลังคาดว่าการปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้ จะทำให้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งที่อยู่ในแผนฯ ซึ่งประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้า 4 สาย โครงการรถไฟทางคู่ 3 สาย การจัดซื้อหัวรถจักร รถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า และรถโดยสาร นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนในสาขาไฟฟ้า ประปา และที่อยู่อาศัย สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วนของ กปภ. ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ทั้งยังช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยที่ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนด

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 มี.ค. 2559 เวลา : 12:26:16

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 12:21 am