ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
หยิบเงินหยิบทอง - บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง


 


ตลาดหุ้นไทยวานนี้
          SET INDEX วันอังคารที่ผ่านมาปรับตัวลงทดสอบ 1,380 จุด และหลุดแนวดังกล่าว กดดันด้วยกลุ่ม ICT และ ธนาคาร หลัง KBANK / SCB / KTB ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MLR สิ้นวันปิดที่ 1,373.59 จุด ลบมากถึง 26.68 จุด มูลค่าการซื้อขาย 52,966 ล้านบาท
          ต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 2 อีก 1,742 ล้านบาท Short สุทธิใน SET50 Index Ftures เป็นวันที่ 2 มากถึง 12,172 สัญญา และขายสุทธิตลาดตราสารหนี้เป็นวันแรกในรอบ 7 วันทำการ 4,630 ล้านบาท

 

ปัจจัยสำคัญวันนี้
          - รายงานการประชุมเฟดเดือนมี.ค.สะท้อนว่าคณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่มีมุมมองระมัดระวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 
          - ราคาน้ำมันดิบ NYMEX +5.1% เนื่องจาก EIA รายงานตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบลดลง 4.9 ล้านบาร์เรล สวนทางคาดการณ์
          - ช่วงคาบเกี่ยววันหยุดยาวของตลาดหุ้นไทย
          - ติดตามความเห็นของนายกฯ ต่อข้อเสนอการใช้ม. 44 ในการตัดสินใจเรื่องใบอนุญาตคลื่น 900MHz ช่วงที่ 1 ในวันที่ 8 เม.ย. 
          - โอเปกยังคาดหวังการประชุมวันที่ 17 เม.ย. จะบรรลุข้อตกลงการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมันของโอเปกและนอกกลุ่ม
 
 
 

มุมมองต่อตลาดวันนี้: กลาง (วันที่ 2)
         
แม้ว่า SET INDEX ปรับฐานลงหลุดแนว 1,380 จุดวันอังคารที่ผ่านมาก็ตาม แต่เป็นแรงกดดันของกลุ่มหลักอย่างกลุ่มพลังงานที่ราคาน้ำมันดิบปรับฐานลง / กลุ่มธนาคาร จากการทยอยประกาศลดอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารหลัก / กลุ่ม ICT กับแนวทางการตัดสินใจใบอนุญาตคลื่น 900MHz แต่ราคาหุ้นเกี่ยวข้องลงมาสะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปค่อนข้างมากแล้วเช่นกัน
         
เราประเมินว่า SET INDEX วันนี้จะแกว่งตัวในกรอบ 1,365-1,380 จุด มูลค่าการซื้อขายเบาบางเพียง 2.5-3.0 หมื่นล้านบาท/วัน เนื่องจากเป็นช่วงคาบเกี่ยววันหยุด  อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มพลังงานมีโอกาสฟื้นตัวช่วยหนุนตลาด แต่กลุ่มหลักที่เหลือ เช่น กลุ่มธนาคาร และสื่อสาร ยังคงอยู่ในช่วงของการพักฐานต่อเนื่อง เพราะยังขาดความน่าสนใจทั้งในแง่ของ Valuation หรือประเด็นที่กดดันจะคลายตัว 
         
แต่เงินทุนที่ไหลออกจาก 3 กลุ่มหลักข้างต้น จะไหลเข้ากลุ่มขนาดกลาง อย่างกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง / กลุ่มวัสดุก่อสร้าง / กลุ่มค้าปลีก / กลุ่มท่องเที่ยว เป็นสำคัญ รวมถึงหุ้นขนาดกลางและเล็กที่มีปัจจัยเด่นเฉพาะตัวเป็นสำคัญ
          สำหรับรายงานการประชุมเฟดเดือนมี.ค. สะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการเฟดส่วนใหญ่ระมัดระวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคาดว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน เม.ย.

Stock Pick of The Day
          1.  PTTGC : ราคาปิด 56.50 บาท ราคาเหมาะสม 60.00 บาท
          a)  MBKET คาดว่าหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีจะฟื้นตัวในวันนี้ จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ NYMEX ที่เพิ่มขึ้นถึง +5.1% dod หลัง EIA รายงานตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบลดลง 4.9 ล้านบาร์เรล 
          b)  คาดกำไรสุทธิ 1Q59 จะฟื้นตัว qoq เนื่องจากจะไม่มีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันเป็นจำนวนมากเหมือนใน 4Q58 หลังราคาน้ำมันดิบดูไบสิ้นสุด 1Q59 อยู่ที่ US$36.94/barrel จากสิ้นปี 2558 ที่ US$32.37/barrel 
          c)  ซื้อขายที่ PBV2559 เพียง 1.06 เท่า ต่ำกว่า TOP ที่  1.36 เท่า, IRPC 1.26 เท่า และ SPRC 1.34 เท่า 

          2.  TPIPL  : ราคาปิด 2.62 บาท ราคาเหมาะสม 3.40 บาท
          a)  ราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงตามภาวะตลาดเป็นโอกาสในการเข้าสะสม 
          b)  คาดกำไรจากการดำเนินงาน 1Q59 จะเติบโตเด่นทั้ง yoy และ qoq จากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าขยะ 73MW แบบเต็มไตรมาส และเป็นไตรมาสแรกที่เดินเครื่องได้เต็มที่ 
          c)  แผนการนำบริษัทลูก คือ TPIPP เข้าจดทะเบียน IPO ในปีนี้ จะเป็น Catalyst สำคัญ และช่วยเพิ่ม Market Cap ให้ TPIPL อย่างมีนัยสำคัญ โดยประเมินเบื้องต้นคาดว่าหุ้น TPIPP จะมี Market cap ราว 5 หมื่นล้านบาท หรือเทียบเท่ามูลค่าต่อหุ้น TPIPL ที่ 2.45 บาท

Fund Flow Analysis

Fund Flow in Emerging Markets
กลับมาขายสุทธิ US$187 ล้าน จากวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ US$50 ล้าน 

 
Foreign Investors Action วานนี้
เงินทุนต่างชาติขายทำกำไรต่อเนื่อง
         
นักลงทุนต่างชาติคงการขายสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 2 เร่งขึ้นเป็น 1,742 ล้านบาท รวม 2 วันทำการขายสุทธิ 2,670 ล้านบาท  เทียบกับ 5 วันทำการก่อนหน้าซื้อสุทธิ 15,419  ล้านบาท แต่ยอด YTD ซื้อสุทธิยังคงยืนเหนือ 20,000 ล้านบาท เป็น 20,328 ล้านบาท
         
ด้าน SET50 Index Futures นักลงทุนกลุ่มนี้คงการ Short สุทธิเป็นวันที่ 2 มากถึง 12,172 สัญญา รวม 2 วันทำการ Short สุทธิ 16,089 สัญญา คาดว่าจะเป็นการปิดสถานะ Long และกดดันให้ S50M16 ปิดต่ำกว่า SET50 Index กว้างขึ้นเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ มากถึง 11.74 จุด จากวันก่อนหน้า Discount เพียง 2.72 จุด ทำให้ QTD นักลงทุนกลุ่มนี้คงการ Short สุทธิเท่ากับ 13,560  สัญญา
         
และตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนกลุ่มนี้กลับมาขายสุทธิเป็นวันแรกในรอบ 7 วันทำการ 4,630 ล้านบาท เทียบกับ 6 วันทำการก่อนหน้าซื้อสุทธิ 52,393 ล้านบาท โดยราคาพันธบัตรไทยเริ่มแกว่งในกรอบแคบ ผ่านผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลงเป็นวันที่ 7 เพียง 1.26bps จากวันก่อนหน้าลดลงมากถึง 7.74bps ปิดที่ 1.540%

Short-Selling วานนี้ 
เร่งขึ้นเป็นวันแรกในรอบ 3 วันทำการ 1,620 ล้านบาท จากวันก่อนหน้า 655 ล้านบาท 

 
NVDR Movement
NVDR ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 โดยเน้น กลุ่มแบงก์ / ICT / AOT 
          การซื้อขายผ่าน NVDR คงการขายสุทธิเป็นวันที่ 2 มากถึง 1,589 ล้านบาท รวม 2 วันทำการขายสุทธิ 1,719 ล้านบาท โดยเป็นการลดน้ำหนักกลุ่มธนาคาร / ICT / AOT อย่างโดดเด่น ด้วยปัจจัยลบเฉพาะกลุ่มเป็นสำคัญ
 

ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ – การเงินรายภูมิภาค

สหรัฐอเมริกา
          ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด: 
          ดุลการค้าเดือน ก.พ. ขาดดุลอยู่ที่ระดับ US$4.71 หมื่นล้าน จากเดือนก่อนที่ขาดดุล US$4.59 หมื่นล้าน ขาดดุลมากกว่าที่ Bloomberg Consensus คาดขาดดุล US$4.62 หมื่นล้าน
          ดัชนี PMI ภาคบริการ อยู่ที่ 51.3 จุดสำหรับเดือน มี.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 51.0 จุด และ มากกว่า Bloomberg Consensus คาด 51.2 จุด
          ดัชนี ISM ภาคบริการ อยู่ที่ 54.5 จุดสำหรับเดือน มี.ค. เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 53.4 จุด และ มากกว่า Bloomberg Consensus คาด 54.2 จุด
 
 

ยุโรป
          ตัวเลขเศรษฐกิจในอียูส่งสัญญาณอ่อนแอ: 
          ดัชนี PMI Composite ของอียูเดือน มี.ค. อยู่ที่ 53.1 จุด เทียบกับเดือนก่อนที่ 53.0 จุด แต่ต่ำกว่าตัวเลขการประเมินครั้งก่อนที่ 53.7 จุด ทั้งนี้ตัวเลขภาคบริการอยู่ที่ 53.1 สำหรับเดือน มี.ค.ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนและการประเมินครั้งก่อนที่ 53.3 จุดและ 54.0 จุด
          คำสั่งซื้อโรงงานของเยอรมันหดตัวสวนทางคาด โดยลดลง 1.2% mom ในเดือน ก.พ. จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.5% mom ขณะที่ Bloomberg Consensus คาดเพิ่มขึ้น 0.3% mom ทั้งนี้คำสั่งจากภาคส่งออกลดลง 2.7% เช่นเดียวกับสินค้าลงทุนและอุปโภคบริโภคที่ลดลง 2.1% และ 7.3% ขณะที่คำสั่งในประเทศขยายตัวได้ 0.9% 
          ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. ของเยอรมันหดตัว 0.5% mom จากที่ขยายตัว 2.3% mom ในเดือนก่อนและต่ำกว่าที่ Bloomberg Consensus คาดหดตัว 1.8% mom
          ดัชนี PMI Composite ของอังกฤษเพิ่มขึ้น: เดือน มี.ค. อยู่ที่ 53.6 จุด จากเดือนก่อนที่ 52.7 จุดมากกว่าที่ Bloomberg Consensus คาดที่ 53.4 จุด แม้ว่าภาคบริการอยู่ที่ 53.7 จุด เพิ่มจากเดือนก่อนที่ 52.7 จุด อย่างไรก็ตามยังคงเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งความกังวลเศรษฐกิจโลก รวมถึงการขอแยกออกจากกลุ่มอียูกระทบความเชื่อมั่นธุรกิจ

จีน          
          ไม่มี
 

เอเชียแปซิฟิก
          ธนาคารกลางอินเดียประกาศลดอัตราดอกเบี้ย: อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงเป็น 6.50% จากเดิม 6.75% เป็นการลดครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2554 สอดคล้องกับ Bloomberg consensus คาดกาณณ์ พร้อมส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายต่อเนื่อง ภายใต้การพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจ และพัฒนาการด้านตลาดเงินในช่วง 2-3 เดือน ก่อนที่จะมีการปรับนโยบายเพิ่มเติม
          ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ย: ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของธนาคารกลาง การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย เป็นไปตามภาพรวมเศรษฐกิจและผลของการที่เฟดเริ่มระมัดระวังต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 
          ผู้ว่าการกลุ่มโอเปกส่งสัญญาณจุดเริ่มของการคุมเพดานการผลิตน้ำมัน: OPEC’s governor ให้ความเห็นต่อการประชุมระหว่างกลุ่มโอเปก และ นอกกลุ่มโอเปก วันที่ 17 เม.ย. จะเป็นจุดเริ่มต้นของขอตกลงการคงเพดานการผลิตน้ำมัน ซึ่งจะทำให้อุปสงค์ และ อุปทาน น้ำมันดิบกลับสู่ระดับสมดุลย์ภายใน 2H59 
          อัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ตามคาด: เพิ่มขึ้น 1.1% yoy เท่ากับที่ Bloomberg consensus คาด ซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.9% yoy ด้าน Core CPI เพิ่มขึ้น 1.5% yoy อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อใน 1Q59 อยู่ที่ 1.1% ยังคงเป็ระดับที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ที่ 2-4% สำหรับปี 2559-2561
          ยอดส่งออกมาเลเซียขยายตัวมากกว่าคาด: เพิ่มขึ้น 6.7% yoy ในเดือน ก.พ. จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 2.8% yoy เทียบกับ Bloomberg Consensus ที่เพิ่มขึ้นเพียง 2.9% yoy โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯและจีนขยายตัว 21% และ 12% yoy ตามลำดับ ด้านการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียง 1.6% yoy ทำให้ดุลการค้าเกินดุลที่ระดับ 7.35 พันล้านริงกิต
 
 

ไทย
          ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นเดือนที่ 3: เดือน มี.ค.อยู่ที่ 73.5 จาก 74.7 ใน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯที่ปรับลดลง เนื่องจากผู้บริโภคกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะที่กนง. ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 3.1% จากเดิมคาดโต 3.5%  นอกจากนี้ผู้บริโภคยังกังวลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในเดือนพ.ค.นี้  แต่หากรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่คาดการณ์ไว้ การฟื้นตัวอาจจะเลื่อนไปเป็นเดือนก.ค. 


          โดย บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ประจำวันที่ 7 เม.ย. 2559


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 เม.ย. 2559 เวลา : 10:13:45

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 5:00 pm