ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สศอ.ชี้ทางรอดอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน


 สศอ.แนะแก้จุดบอด อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล รัฐบาลต้องวางนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน

 

          
นายสุรพล ชามาตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชม บริษัท สุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จำกัด จังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรและการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (อุตสาหกรรมการผลิตสารสกัดธรรมชาติจากพืชกลุ่มที่ให้น้ำมัน) ว่า สาเหตุที่บริษัท สุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จำกัด สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้วัตถุดิบในประเทศมีราคาสูง และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของคู่แข่งมีราคาต่ำ เนื่องจากบริษัท สุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จำกัด มีจุดแข็งอยู่ที่การทำธุรกิจแบบครบวงจร คือ ดำเนินการตั้งแต่การวิจัยพันธุ์ปาล์มน้ำมัน เพาะกล้า และทำสวนปาล์มน้ำมันเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมของบริษัท คือ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล โดยผลิตไบโอดีเซล กลีเซอรีน การแยกกรด การผลิต Natural palm wax เพื่อทำเทียน และได้เริ่มกระบวนการเติมไฮโดรเจน (Hydrogenation) เพื่อผลิตมาการีน (Margarine) และเนยขาว (Shortening) 
          
 
 
นอกจากนี้ ขนาดการผลิตของบริษัทไม่ใหญ่จนเกินไป แต่สามารถรองรับอุตสาหกรรมของบริษัท ทั้งยังมีการผลิตวัตถุดิบเอง และสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องต่างๆ และยังสามารถผลิตพลังงานเพื่อนำมาใช้เองได้อีกด้วย ซึ่งเป็นระบบ Zero waste เช่น โรงงาน Biomass Biogas และ Solar farm ดังนั้น จึงทำให้ธุรกิจของบริษัท สุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จำกัด สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้
         
 นายสุรพล กล่าวว่า แม้อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลจะมีแนวโน้มการเติบโตดีในตลาดโลกประมาณร้อยละ 4 ต่อปี โดยตลาดที่เติบโตดี คือ จีน และ อินเดีย ซึ่งปัจจุบันประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นผู้นำในการผลิตโอเลโอเคมิคอล แต่สำหรับประเทศไทยการแปรรูปปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปของน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและการนำไปผลิตไบโอดีเซลเท่านั้น 
         
 เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด ทั้งในด้านต้นทุน การผลิตวัตถุดิบปาล์มน้ำมันสูง นโยบายภาครัฐในการส่งเสริมผู้ผลิตโอเลโอเคมิคอลในประเทศยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอลแบบครบวงจรที่มีเครือข่ายวัตถุดิบ โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และโรงไฟฟ้า รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรโดยภาครัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องราคาวัตถุดิบปาล์มน้ำมัน ส่งผลต่อเนื่องไปยังต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน
         
 ดังนั้น รัฐบาลควรส่งเสริมการสร้างเครือข่ายให้ผู้ประกอบการได้รับทราบข้อมูลห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ตลอดจนสนับสนุนภาคเกษตรในการลดต้นทุนการผลิตวัตถุดิบและสร้างเสถียรภาพของปริมาณและราคา พร้อมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่มีความสามารถในการแข่งขันและมีความเป็นไปได้เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และมีความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งอาจมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับประเทศคู่ค้าด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 เม.ย. 2559 เวลา : 16:03:49

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 7:23 am