ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ส่งทีมวิศวกรโยธาประเมินความพร้อมรับแผ่นดินไหว รพ. พื้นที่เสี่ยง 22 จังหวัด


 


อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งทีมวิศวกรโยธาลงพื้นที่ 22 จังหวัดเสี่ยงแผ่นดินไหว ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ประเมินความมั่นคง แข็งแรง อาคารของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ โดยเฉพาะอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ.2540 เน้นหนักที่หอผู้ป่วยหนักก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการ ส่วนอาคารใหม่ได้ออกแบบก่อสร้างสามารถรับแผ่นดินไหวได้ทั้งหมด

        
จากกรณี แผ่นดินไหวขนาด 6.4 ที่จังหวัดคุมะโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 เมษายน และแผ่นดินไหวขนาด 7.8 นอกชายฝั่งทางภาคกลางของเอกวาดอร์ ประเทศละตินอเมริกา เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมานั้น

        
บ่ายวันนี้ (19 เมษายน 2559) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในเขตรอยต่อของเปลือกโลก แต่ก็มีพื้นที่หรือบริเวณที่อยู่ใกล้รอยเลื่อน หรือเป็นดินอ่อนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวถึง 22 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้ให้กองแบบแผน จัดโครงการเสริมกำลังต้านแผ่นดินไหว โดยส่งทีมวิศวกรโยธา เข้าตรวจสอบโครงสร้างอาคารของโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเริ่มในพื้นที่เสี่ยงใกล้รอยเลื่อนทางภาคเหนือ และภาคตะวันตก เฝ้าระวังความมั่นคงโครงสร้างอาคารเก่าของโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ก่อสร้างก่อนปี พ.ศ. 2540 และอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้มีความแข็งแรงสามารถต้านทานการสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหวได้ ซึ่งในระยะแรกของโครงการจะเน้นที่การปรับปรุงโครงสร้างของอาคารหอผู้ป่วยหนัก ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง หลังจากนั้นจะขยายผลไปยังอาคารผู้ป่วยนอกและหอพักผู้ป่วย-เจ้าหน้าที่ต่อไป ส่วนอาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่ขณะนี้ได้ออกแบบให้เป็นอาคารต้านแผ่นดินไหว ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2550 สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจแก่บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนผู้ใช้บริการของโรงพยาบาล ตลอด 24 ชั่วโมง

       
“จากการตรวจสอบเบื้องต้นขณะนี้พบว่าอาคารของโรงพยาบาลมีความมั่นคงเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามทีมวิศวกรโยธาจะดำเนินการ ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และหากพบว่าอาคารใดมีความเสี่ยงก็จะดำเนินการออกแบบปรับปรุงให้มั่นคงและก่อสร้างให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างมั่นใจ” อธิบดีกรม สบส.กล่าว

       
นอกจากนี้กรม สบส.ได้จัดทำคู่มือการตรวจสอบงานออกแบบสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ออกแบบโดยบุคคลภายนอก เพื่อใช้เป็นกรอบมาตรฐานในการออกแบบการก่อสร้างโรงพยาบาล ที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ในพื้นที่ 22 จังหวัดได้ ภาคเอกชนที่สนใจสามารถนำคู่มือนี้ไปใช้ได้เช่นกัน โดยติดต่อที่กองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18312 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าว 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 เม.ย. 2559 เวลา : 18:27:05

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 2:19 am