ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กทม.ห่วง7โรคมากับอากาศร้อน-แนะวิธีป้องกัน


 นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีความห่วงใยสุขภาพประชาชน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง อาจเพิ่มความเสี่ยงก่อให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ดังนั้นโรคที่สำคัญ ได้แก่ 1. โรคอุจจาระร่วง อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากหรือถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย

 

2. โรคอาหารเป็นพิษ อาการที่สำคัญ ได้แก่ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย และอาจมีถ่ายเหลวร่วมด้วย 3. โรคบิด เกิดจากการรับประทานอาหาร ผักดิบ หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อบิดปนเปื้อนเข้าไป อาการสำคัญ คือ มีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย มีมูก หรือมูกปนเลือด 4. โรคอหิวาตกโรค อาการที่สำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำซาวข้าวคราวละมากๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง ผู้ป่วยจะอาเจียน กระหายน้ำ กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ตาลึกโหล ปัสสาวะน้อย หากเสียน้ำมากอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้ 

 

 


5. โรคไข้ไทฟอยด์หรือโรคไข้รากสาดน้อย อาการที่สำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องอืดหรือท้องเสียได้ ผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะโรคไข้ไทฟอยด์ ควรหลีกเลี่ยงการประกอบอาหาร เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ 6. โรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ ซึ่งอาจเกิดกับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก กระแต เป็นต้น 7. โรคลมแดด (Heat Stroke) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกาย สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่สำคัญ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำหากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

สำนักอนามัยขอเชิญชวนประชาชนร่วมป้องกันโรคทางเดินอาหารและน้ำ โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ และอาหารที่มีแมลงวันตอม ควรใช้ฝาชีครอบอาหาร หรือใส่ตู้กับข้าวให้มิดชิด ล้างผัก และผลไม้หลายๆ ครั้งให้สะอาด รวมทั้งภาชนะที่ใส่อาหารและช้อนต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งก่อนใช้ ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหารหรือปรุงอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ถ่ายอุจจาระลงในโถส้วมที่ถูกสุขลักษณะ กำจัดขยะมูลฝอย รักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค 

สำหรับโรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยง ควรเฝ้าระวังและป้องกัน โดยนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างน้อยปีละครั้ง ฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุ 2–4 เดือน ระวังบุตรหลาน ไม่ให้เล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมทั้งเมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อและรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีน และควรกักขังสัตว์ที่กัดไว้รอดูอาการอย่างน้อย 10 วัน และพิสูจน์ซากสัตว์หากซากสัตว์ที่กัดเสียชีวิต ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครทุกแห่ง โรงพยาบาลใกล้บ้าน และกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2247 5069 ในวัน เวลาราชการ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 เม.ย. 2559 เวลา : 20:48:22

16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 5:14 pm