ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สธ.ให้บริการคลินิกชะลอไตเสื่อม-ยืดระยะไตเสื่อมได้7ปี


กระทรวงสาธารณสุข  ให้บริการคลินิกชะลอไตเสื่อมในโรงพยาบาลครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง จนถึงโรงพยาบาลศูนย์ ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแบบองค์รวมโดยทีมสหวิชาชีพ ช่วยยืดระยะเวลาไตเสื่อมได้อีก 7 ปี  พร้อมเพิ่มศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะเขตสุขภาพละ 1 แห่ง และเพิ่มศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนไตมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น  

 


วันนี้(4 พฤษภาคม 2559)ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวการให้บริการคลินิกชะลอไตเสื่อมในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศครบ 100 เปอร์เซ็นต์
 

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า  ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น โดยเฉพาะเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนไตเรื้อรังซึ่งมีประมาณ 7.6 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 1 หมื่นคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี  ในจำนวนนี้ป่วยระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คน ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย และเสียค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือสิทธิการรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ต้องรักษาโดยวิธีบำบัดทดแทนไต คือ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี
 
 
 
 
 
 
กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายรณรงค์คัดกรองประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป เพื่อค้นพบผู้ป่วยหรือมีความเสี่ยงป่วยได้เร็วขึ้น รักษาเร็วขึ้น ลดการป่วยและเสียชีวิต หากพบความเสี่ยงจะตรวจเลือดและโปรตีนในปัสสาวะ เพื่อประเมินความสามารถในการทำงานของไต  เพื่อจัดระบบการรักษาให้เหมาะสมกับระยะของการเจ็บป่วย ส่งผลดีต่อผู้ป่วย  เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย รู้เร็ว รักษาเร็ว  ซึ่งขณะนี้ได้ให้บริการคลินิกชะลอไตเสื่อมในในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง จนถึงโรงพยาบาลศูนย์ครบทุกแห่งทั่วประเทศ  โดยมีทีมสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพ และนักโภชนากร ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแบบองค์รวม ช่วยยืดระยะเวลาไตเสื่อมไปได้อีก 7 ปี

          
ทั้งนี้  ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร ผลักดันนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ และจัดทำร่างยุทธศาสตร์ลดบริโภคเกลือ(โซเดียม)ในประเทศไทยตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมการบริโภคเกลือและโซเดียม เป็นการป้องกันโรคไตเรื้อรังอย่างยั่งยืน

ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้โรคไต เป็น 1 ใน 13 สาขาหลักที่ต้องเร่งรัดพัฒนาระบบบริการให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ  โดยกำหนดมาตรการในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 7 มาตรการ ได้แก่ 1.เฝ้าระวัง ติดตาม คัดกรองโรคและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค และเชื่อมโยงการให้บริการจากระดับชุมชนกับสถานบริการ 2.สร้างความตระหนักให้กับประชาชนและกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วย 3.เสริมสร้างสิ่งแวดล้อมลดเสี่ยงและการจัดการโรคไตเรื้อรังโดยชุมชน ให้มีการควบคุมปริมาณโซเดียมและน้ำตาลในอาหาร ตลอดจนกำหนดมาตรฐานฉลากสินค้า 4.ให้คำปรึกษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

5.พัฒนาคุณภาพการบริการ โดยอาจให้บริการร่วมกับคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มีการทำงานร่วมกับชุมชนและรพ.ในระดับที่สูงและต่ำกว่า ตลอดจนมีโปรแกรมการสอน และระบบสนับสนุนการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่เข้ารับการพักรักษาในรพ. 6.เสริมสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกระดับให้มีประสิทธิภาพ เข้มแข็ง มีการอบรมผู้ดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่อสม. จนถึงเจ้าหน้าที่ทุกสาขา และ7.มีการติดตามและประเมินผล ซึ่งจะต้องมีการวางแนวทางการบริหารข้อมูล

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเร่งรัดดำเนินการไปพร้อมๆ กันคือ การรับบริจาคอวัยวะ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ลดระยะเวลารอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะ เพิ่มการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะและเพิ่มอัตราการคงอยู่ของอวัยวะที่ปลูกถ่าย ซึ่งขณะนี้คนบริจาคน้อยทำให้ขาดแคลนอวัยวะบริจาค รวมทั้งคุณภาพของอวัยวะที่บริจาคคุณภาพไม่ดี  จึงได้มีนโยบายเพิ่มศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะเขตสุขภาพละ 1 แห่ง และเพิ่มศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนไตมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น  โดยมียุทธศาสตร์การทำงานได้แก่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เรื่องการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ พัฒนาระบบบริการการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะในโรงพยาบาล พัฒนาบุคลากรและหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องกับระบบบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ และการพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย เพื่อรองรับระบบการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ

สำหรับวิธีปฏิบัติชะลอไตเสื่อม 5 ข้อ คือ 1.ดื่มน้ำให้เพียงพอ 2.ควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับปกติ 3.งดเหล้า บุหรี่ 4.หลีกเลี่ยงรสเค็ม และ 5.หลีกเลี่ยงกินยาแก้ปวดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่มีทะเบียน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 พ.ค. 2559 เวลา : 14:33:33

11-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 11, 2024, 7:47 am