ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ธปท.เผยแบงก์ทะยอยปรับเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเป็นชิปการ์ดตั้งแต่16พ.ค.นี้


 


นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวการปรับเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตจากแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ดตามมาตรฐานชิปการ์ดของไทย โดยตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศจะเป็นบัตรแบบชิปการ์ด สำหรับบัตรแบบเดิมที่เป็นแถบแม่เหล็กจำนวนประมาณ 60 ล้านใบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะทยอยเปลี่ยนเป็นบัตรตามมาตรฐานชิปการ์ดของไทยภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
 

ในปี 2556 คณะกรรมการระบบการชำระเงิน หรือ กรช. ได้กำหนดนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยน บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตของไทยจากแถบแม่เหล็กให้เป็นชิปการ์ด ซึ่งนโยบายนี้ของ กรช. ถือเป็นมาตรการที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ถือบัตรมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการปลอมแปลงบัตร (counterfeit card fraud) ในประเทศ ที่เกิดจากช่องโหว่ของบัตรแถบแม่เหล็กที่อาจถูกโจรกรรมข้อมูล (skimming) เพื่อนำไปทำบัตรปลอมและใช้ถอนเงิน และช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน เครื่องเอทีเอ็ม รวมถึงการชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าผ่านเครื่องรับบัตร (POS) แทนการใช้เงินสด ซึ่งนโยบายดังกล่าวของ กรช. มีความสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีการปรับเปลี่ยนบัตรให้เป็นชิปการ์ดเพื่อยกระดับความปลอดภัย

 
 
 
ที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้การปรับเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มและบัตร เดบิตเป็นชิปการ์ดได้สำเร็จ โดยเฉพาะสมาคมธนาคารไทย ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานชิปการ์ดของไทย (Thai bank chip card standard) เพื่อใช้กับบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ออกในประเทศ เพื่อให้ลูกค้าธนาคารต่าง ๆ สามารถใช้งานเครื่องเอทีเอ็มระหว่างกันได้ (interoperability) นอกจากนี้ ภาคธนาคารยังร่วมมือปรับเปลี่ยนระบบงาน และพัฒนาเครื่องเอทีเอ็มและเครื่องรับบัตรให้พร้อมรองรับการใช้งานบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดด้วย
 

การนำมาตรฐานชิปการ์ดมาใช้ในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาต่อยอดบริการชำระเงิน โดยช่วยส่งเสริมการใช้ e-Payment ให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ cashless society นับเป็น ประโยชน์ที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านการชำระเงินประเทศ และเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของประเทศ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของบริการชำระเงินของไทย



 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 พ.ค. 2559 เวลา : 14:44:29

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:30 pm