ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นักเศรษฐศาสตร์มองศก.ไทยมีสัญญาณฟื้น-จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา


 


กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็น          นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 68 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 26 เม.ย. 59 - 12 พ.ค. 59 ที่ผ่านมา พบว่า
 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 36.15 (เต็ม 100) เพิ่มขึ้น จากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 33.93 และเป็นการเพิ่มขึ้น 4 ไตรมาสติดต่อกัน นับจากเดือนเมษายน 58 อย่างไรก็ตาม การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแอเป็นอย่างมาก
 
เมื่อวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนพบว่าปัจจัยที่ทำให้ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก ได้แก่   การลงทุนภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 9.09) รองลงมาคือ การส่งออกสินค้า(ดัชนีเท่ากับ 10.45)  และการบริโภคภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 17.16) ขณะที่ปัจจัยการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยที่มีค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงที่สุดเท่ากับ 83.58 เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งที่ผ่านมา(ค่าดัชนีเท่ากับ  81.15) และด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นอีกปัจจัยที่ทำงานได้ดีโดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 60.45 แต่ปรับตัวลดลงจากครั้งก่อน (ค่าดัชนีเท่ากับ  60.66)

เมื่อมองออกไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า  ค่าดัชนีอยู่ที่ 58.21 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา (ค่าดัชนีเท่ากับ  58.17) และเมื่อมองออกไปในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 71.90 เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน (ค่าดัชนีเท่ากับ 67.69)  เมื่อพิจารณาจากดัชนีองค์ประกอบพบว่าในระยะ 3  เดือนข้างหน้าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ  รองลงมาเป็นปัจจัยด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
 
 ส่วนปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะ 6 เดือนข้างหน้าคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกสินค้า ตามลำดับ


ด้านมุมมองความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจว่าปัจจุบันของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักร พบว่า ร้อยละ 50.0  เห็นว่าอยู่ในช่วงถดถอย  รองลงมาร้อยละ 27.9  เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขยายตัว ส่วนร้อยละ 11.8 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ มีเพียงร้อยละ 1.5 ที่เห็นว่าเศรษฐกิจรุ่งเรือง 


สุดท้ายเมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อภาพรวมการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลในปัจจุบันพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.4 พอใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 45.6 พอใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า 
(1) เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
(2) ปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

 
 
 



 
 




 

บันทึกโดย : วันที่ : 18 พ.ค. 2559 เวลา : 08:53:58

23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 4:22 pm