ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พณ.เผยยอดจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล5เดือนปีนี้ลดลง2%เทียบปีก่อน


 


นางสาวผ่องพรรณ  เจียรวิริยะพันธ์  อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนพฤษภาคม 2559 โดยมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 4,366 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 3,987 ราย โดยเพิ่มขึ้น 379 ราย คิดเป็น 10% สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2559 มีจำนวน 971 ราย เพิ่มขึ้น 74 ราย คิดเป็น 8% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 โดยธุรกิจที่        เลิกสูงสุด คือ ธุรกิจค้าสลาก จำนวน 144 ราย คิดเป็น 15% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เลิกเนื่องจากธุรกิจไม่ได้ประกอบกิจการ
•  มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 18,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 6,293 ล้านบาท คิดเป็น 50% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 12,480 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจำนวน 1,241 ล้านบาท คิดเป็น 7% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งมีจำนวน 17,532 ล้านบาท
•  ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 498 ราย   ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 241 ราย ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการจำนวน 131 ราย ธุรกิจขายส่งเครื่องจักร จำนวน 122 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 107 ราย
•  ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น 1,321,897 รายมูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 20.08 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน   637,206 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 15.66 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 455,022 ราย บริษัทมหาชนจำกัด  1,129 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,055 ราย
 
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมองในภาพรวมของการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-พ.ค.) มีจำนวน 25,876 ราย ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2558 (ม.ค.- พ.ค.) ซึ่งมีจำนวน 26,396 ราย โดยลดลง 520 ราย คิดเป็น 2% แต่อย่างไรก็ตาม กรมคาดว่าจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วง 7 เดือนหลังของปีจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยกำหนดให้นิติบุคคลที่ลงทุนในทรัพย์สินประเภทต่างๆ สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่า และกรมสรรพากรมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาเปลี่ยนมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีและสอดคล้องกับนโยบายบัญชีเดียวของกระทรวงการคลังซึ่งจะส่งผลให้มีสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คือระหว่าง 60,000 -65,000 ราย นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและชี้นำการลงทุนให้กับภาคเอกชนที่สำคัญจะมีส่วนเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ในปีนี้

ผลการดำเนินงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดือนพฤษภาคม  2559
•  จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัด
บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัดได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่     2 มิถุนายน 2557 โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 มีการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขต จำนวน 766 ราย  จากการจดทะเบียนทั่วประเทศ จำนวน 4,366 ราย คิดเป็น 18% เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ซึ่งมีการยื่นจดทะเบียน ข้ามเขต 14% โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 มีการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขต แบ่งออกเป็น
- ส่วนกลาง 538 ราย คิดเป็น 13% โดยสำนักงานในส่วนกลางที่มีการจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้าสนามบินน้ำ) จำนวน 139 ราย รองลงมา สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 2 (พหลโยธิน) จำนวน 101 ราย และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 3 (รัชดาภิเษก) จำนวน 77 ราย
- ส่วนภูมิภาค 228 ราย คิดเป็น 5% โดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคที่มีการจดทะเบียนข้ามเขต       มากที่สุด คือ จังหวัดชลบุรี จำนวน 33 ราย รองลงมาจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 31 ราย และจังหวัดปทุมธานีจำนวน 20 ราย 
•  บริการ DBD e-Service 
ให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคลโดยค้นหาข้อมูลนิติบุคคลจากรายชื่อหรือเลขทะเบียน งบการเงิน และรายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์ รวมทั้งมีบริการข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service)        ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง มีสถิติผู้เข้าใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 รวมทั้งสิ้น 1,314,144 ครั้ง โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 มีผู้ใช้บริการระบบนี้ จำนวน 120,200 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (เม.ย.59 = 1,193,944 ครั้ง) คิดเป็น 10.1%
•  e-Commerce 
การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และได้รับเครื่องหมาย DBD Registered เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันมีผู้ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered จำนวน 16,045 รายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (เม.ย. 59) 194 ราย คิดเป็น 1.2% ประกอบด้วยนิติบุคคล 4,050 ราย คิดเป็น 25% บุคคลธรรมดา 11,995 ราย คิดเป็น 75% และมีร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered จำนวน 17,963 ร้านค้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (เม.ย.59) 201 ร้านค้า คิดเป็น 1.1%
   
ธุรกิจที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,964 ร้านค้า คิดเป็น 17%
2) ธุรกิจคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ไอที และซอฟแวร์  จำนวน 2,627 ร้านค้า คิดเป็น 15%
3) ธุรกิจการแพทย์ สุขภาพ ยา สมุนไพร สปา  จำนวน 2,515 ร้านค้า คิดเป็น 14%


ทั้งนี้ การได้รับเครื่องหมาย DBD Registered จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้นทั้งนี้ กรมได้ประสานขอความร่วมมือกับตลาดกลางออนไลน์ให้กำกับดูแลสมาชิกให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ และอาจถูกพิจารณางดให้บริการเข้าขายสินค้าในตลาดกลางด้วย 
•  DBD e-Filing 
          
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชนและ   นิติบุคคลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 มีสถิติผู้ใช้บริการ โดยมีผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 469,293 ราย แสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่และได้รับอนุมัติ  จำนวน 418,421 ราย และส่งงบการเงิน   ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 127,425 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 108,079 ราย (เม.ย.59 = 19,346 ราย) คิดเป็น 559%
          
สำหรับนิติบุคคลที่ยื่นงบการเงิน รอบปีบัญชี 2558  ด้วยตนเองหรือนำส่งทางไปรษณีย์แล้ว  ต้องยื่นงบการเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) อีกครั้งหนึ่งภายใน 30 มิถุนายน 2559 
   
ทั้งนี้ นิติบุคคลยังสามารถศึกษาวิธีการกรอกงบการเงินส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ได้ที่ www.dbd.go.th และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร.02-547-4376, 02-547-4377, 02-547-4390, 02-547-4391 หรือสายด่วน 1570 โทรสาร.02-547-4372 และ e-Mail: efiling.training@gmail.com
•  บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลในรูปแบบภาษาอังกฤษ
   
เป็นการเพิ่มการให้บริการหนังสือรับรองนิติบุคคลในรูปแบบภาษาอังกฤษเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีสถิติการใช้บริการตั้งแต่ 16 มกราคม 2558  จนถึงวันที่31 พฤษภาคม 2559 มีผู้ยื่นขอรับบริการทั้งสิ้น 4,964 คำขอ จำนวน 5,105 ฉบับ แบ่งเป็นส่วนกลาง 3,093 คำขอ3,184 ฉบับ ส่วนภูมิภาค 1,871 คำขอ 1,921 ฉบับ
 
 

LastUpdate 17/06/2559 11:41:06 โดย : Admin

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 3:15 pm