ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ครม.ไฟเขียวมาตรการ 'พี่ช่วยน้อง'นำค่าใช้จ่ายช่วยเอสเอ็มอีหักภาษีได้ 2 เท่า


 

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (2 ส.ค.)มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี (มาตรการพี่ช่วยน้อง) และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท 

สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง)   กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรเกิน 200 ล้านบาท และการจ้างงานเกิน 200 คน สามารถนำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขันให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท และการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้มีการจ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับ  รายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความเห็นชอบและ  รายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรการ 65 ตรี   (3) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี  สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561 


ทั้งนี้ โครงการพี่ช่วยน้อง ได้กำหนดให้เอกชนรายใหญ่ เข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งการถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ การบริหาร การตลาด การบัญชี   การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม                       การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มกำไร   การส่งเสริมการตลาด การจ่ายค่าธรรมเนียม ค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการที่ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม   อย่างไรก็ตาม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจะต้องไม่ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และไม่มีอำนาจควบคุมหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและบริหารงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จ่ายไปเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการ 

สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท โดยกระทรวงการคลังเสนอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการจ่ายเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและแหล่งท่องเที่ยวในชนบท การลงทุน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ทางพิเศษหรือสัมปทาน โทรคมนาคม ไอซีที พลังงานทางเลือก ระบบบริหารจัดการน้ำหรือชลประทาน ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ระบบจัดการของเสีย การลงทุนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับระเบียบมหาดไทยว่าด้วยการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนคำว่าแหล่งท่องเที่ยวรวมถึงอุทยานแห่งชาติ โบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวอื่น องค์การของรัฐ โดยต้องได้รับการรับรองจากราชการและต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับองค์การของรัฐโดยไม่มีค่าตอบแทน ภาคเอกชนที่ช่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิ และร่ายจ่ายเพื่อการศึกษาและการกีฬา โดยจะสามารถทำได้ 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559

คาดว่าทั้ง 2มาตรการ จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ปีละ 5,000 ล้านบาท แต่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมไทย ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท ส่งผลให้ชนบทได้รับการพัฒนา โดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ และสอดคล้องกับความต้องการสาธารณูปโภคในชนบทอย่างแท้จริงตามแนวทางประชารัฐ
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ส.ค. 2559 เวลา : 19:26:22

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 10:22 am