ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ตลาดค้าปลีกตจว.มีศักยภาพสูงแต่ผู้พัฒนาโครงการต้องมีข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยง


 


ตลาดค้าปลีกต่างจังหวัดมีศักยภาพสูงแต่ผู้พัฒนาโครงการและผู้ประกอบการค้าต้องมีข้อมูลเพื่อลดความเสี่ยง

ตลาดธุรกิจค้าปลีกในประเภทห้างสรรพสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 2- 3 ปีข้างหน้า จากการขยายกิจการของกลุ่มห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ไปยังหัวเมืองต่างๆ ของประเทศ ในขณะเดียวกัน จำนวนห้างสรรพสินค้าที่เพิ่มขึ้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการค้าปลีกซึ่งเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเพื่อเปิดร้านหรือสาขา มีช่องทางในขยายธุรกิจในต่างจังหวัดตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้พัฒนาโครงการและผู้ประกอบการร้านค้า ต้องเข้าใจปัจจัยตลาดเพื่อลดความเสี่ยง ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล (โจนส์ แลง ลาซาลล์)

 
นายศิวนาถ ศรีสมทรัพย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการธุรกิจศูนย์การค้าของเจแอลแอล กล่าวว่า “ปัจจัยพื้นฐานของตลาดค้าปลีกในต่างจัดหวัดมีความแตกต่างอย่างมากจากกรุงเทพ ทั้งในด้านรายได้ของประชากร วัฒนธรรมท้องถิ่น การคมนาคม วิถีชีวิต และอื่นๆ ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้สามารถพบได้แม้แต่กับจังหวัดที่อยู่ภายในภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกระดับแบรนด์ดัง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบรนด์ต่างๆ กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต และผู้ประกอบการค้าระดับธุรกิจ SME ที่คิดจะขยายสาขาออกไปในตลาดต่างจังหวัด ควรพิจารณาและวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ รวมถึงการเลือกโครงการห้างสรรพสินค้า หรือคอมมูนิตีมอลล์ที่จะใช้เป็นทำเลในการเปิดสาขาด้วย”

นายศิวนาถได้ยกกรณีของภาคอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงสำหรับธุรกิจค้าปลีก และเป็นที่สนใจของนักลงทุนเนื่องจากอยู่ใกล้ชายแดน เป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (Cambodia-Laos-Myanmar-Vietnam) ที่ข้ามาเป็นสมาชิกหลังสุดของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ระดับจังหวัด มีเพียงหัวเมืองใหญ่ดังเช่น นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี ที่มีระดับรายได้ประชากรต่อหัวสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย จึงเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีการลงทุนพัฒนาโครงการห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก และเป็นทำเลซึ่งเป็นที่ต้องการสูงของผู้ประกอบการค้าปลีกที่คิดจะเปิดร้านหรือสาขาในภาคอีสาน

“ผู้ประกอบการค้าปลีกยังต้องพิจารณาถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในจังหวัดที่จะเข้าไปเปิดร้านหรือสาขาจำหน่ายสินค้า-บริการของตนด้วย ทั้งนี้ ระบบคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวก และการท่องเที่ยวท้องถิ่น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดการกระจายของกลุ่มลูกค้า ทั้งในเชิงจำนวนและประเภท” นายศิวนาถกล่าว พร้อมยกตัวอย่างเปรียบเทียบจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี

ทั้งสองจังหวัดมีความเหมือนกันในแง่ของการเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น มีระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมมูล ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ศูนย์การค้า สถานบันเทิง และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อารยธรรม และธรรมชาติ

สิ่งที่แตกต่างกันได้แก่ การที่จังหวัดขอนแก่นมีชื่อเสียงมากกว่าในด้านการเป็นศูนย์กลางทางศึกษา โดยมีนักศึกษาจากทั่วภูมิภาคอีสานเดินทางมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ จังหวัดขอนแก่นยังมีชื่อเสียงในด้านการจัดงานในช่วงเทศกาล เช่น งานเทศกาลสงกรานต์ที่ถนนข้าวเหนียว และเทศกาลงานไหม ดังนั้นจึงมีการไหลเข้าของกลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แบ่งตามช่วงเทศกาลต่างๆ ของปี

 
ส่วนจังหวัดอุดรธานี มีข้อได้เปรียบจากการมีทำเลอยู่ใกล้จังหวัดชายแดนที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้าออกกลุ่มประเทศ CLMV ได้สะดวก ซึ่งทำให้จังหวัดมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาตลอดทั้งปี รวมถึงประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะข้ามมาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวลาว ซึ่งนิยมขับรถข้ามชายแดนไทย-ลาวมาในช่วงวันหยุด และมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 5,000 – 10,000 บาทต่อคน จังหวัดอุดรธานียังมีชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ “เขยฝรั่ง” ที่เข้ามาปักหลักอยู่อาศัยกับภรรยาชาวไทย ดังนั้น เมื่อเทียบฐานลูกค้าสำหรับธุรกิจค้าปลีก จึงอาจกล่าวได้ว่า จังหวัดอุดรธานีมีฐานลูกค้าที่กว้างกว่า

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต้องพิจารณาถึง คือความสามารถของผู้พัฒนาโครงการห้างสรรพสินค้าที่ผู้ประกอบการจะเลือกใช้เป็นสถานที่เปิดร้านหรือขยายสาขา “ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเปิดศูนย์การค้าใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ไม่ประสบความสำเร็จและต้องปิดตัวลง ดังนั้น ผู้ประกอบการร้านค้า ควรทราบถึงข้อมูลด้านความเชี่ยวชาญ และทิศทางการบริหารของโครงการก่อนตัดสินใจเลือกเป็นสถานที่เปิดร้านค้า” นายศิวนาถกล่าว

นายศิวนาถได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า อุดรธานี และคอมมูนิตี้มอลล์ ยูดีทาวน์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองในระยะที่ไม่ไกลจากกัน และดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งกัน แต่ทั้งสองโครงการประสบความสำเร็จในการดึงดูดลูกค้าที่เดินทางมาซื้อสินค้าและบริการในทั้งสองโครงการอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน คือเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 คนต่อวัน

“นอกจากการมีแผนการตลาดที่ดี และการบริหารของทั้งสองโครงการที่เข้าใจถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้า ทั้งสองโครงการยังได้รวบรวมร้านค้าที่มีลักษณะและบริการที่แตกต่างออกไป เพื่อตอบโจทย์และรองรับลูกค้าได้ในช่วงเวลาต่างๆ ของวัน โดยเฉพาะในส่วนของยูดีทาวน์ นับเป็นคอมมูนิตีมอลล์ที่ประสบความสำเร็จสูงในการตอบโจทย์ลูกค้า ส่งผลให้ผู้พัฒนาโครงการมีความมั่นใจ โดยได้เตรียมแผนงานที่จะปรับปรุงโครงการปัจจุบัน และสร้างโครงการใหม่เพิ่ม คือโครงการยูดี ดีเซ็นเทีย ซึ่งมีแผนเปิดตัวในปี 2017”

บริการสำหรับธุรกิจศูนย์การค้า เป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของเจแอลแอล ที่ให้บริการแก่นักลงทุนหรือผู้พัฒนาโครงการศูนย์การค้าในการเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ บริหารโครงก่อสร้าง-การออกแบบตกแต่ง เป็นตัวแทนจัดหาผู้เช่า และบริหารจัดการพื้นที่ นอกจากนี้ เจแอลแอลยังให้บริการเป็นตัวแทนแก่ผู้ประกอบการค้าปลีกในการจัดหาพื้นที่สำหรับเปิดร้านหรือสาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ

 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.ย. 2559 เวลา : 14:05:03

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:28 pm