ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นายกฯเป็นประธานประชุม คตช. เห็นชอบเพิ่มศักยภาพของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต


 


นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 4/59 เห็นชอบเพิ่มศักยภาพของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ให้ตรวจสอบองค์กรมหาชนและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวง เลขาฯ ป.ป.ท. เผยการประเมินสถานการณ์แก้ไขปัญหาการทุจริตรอบ 2 ปี ปรากฏสถานการณ์การทุจริตเบาบางลง กลไกภาครัฐทำงานเข้มแข็งขึ้น

วันนี้ (2 ก.ย.59) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 4/2559 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม พลเอก ชาตอุดม ติตถะศิริ ประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และคณะ ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

พลเอก ชาตอุดม ติตถะศิริ ประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คตช. กล่าวว่า การประชุมวันนี้ คตช. ได้ติดตามงานที่ได้มีการสั่งการไว้แล้ว โดยประเด็นสำคัญคือการเพิ่มการต่อต้านการทุจริตในส่วนราชการ ที่จะให้ความสำคัญในเรื่องศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตในระดับกระทรวง และการเพิ่มธรรมาภิบาล ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่าจะต้องดำรงการสร้างการรับรู้ การประชาสัมพันธ์การต่อต้านการทุจริตผ่านสื่อโทรทัศน์ให้เข้าถึงประชาชน เพราะปัจจุบันยังมีปัญหาการแข่งขันกันทางสื่อโทรทัศน์ที่มีค่อนข้างสูง ซึ่งได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องรับเรื่องนี้ไปดำเนินการ

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. ได้เสนอเรื่องการเพิ่มศักยภาพของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) กระทรวง ซึ่ง คตช. ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ ศปท. กระทรวง ดังนี้ 1. เป็นศูนย์กลางการประสานงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในกระทรวง 2. ให้ ศปท. กระทรวง ทำหน้าที่ประสานงาน เร่งรัด กำกับและติดตาม ให้รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในกำกับของกระทรวง ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้วยเช่นเดียวกับส่วนราชการในระดับกรม 3. ให้ ศปท. กระทรวง ทำหน้าที่ตรวจสอบเปรียบเทียบผลการดำเนินการทางปกครอง วินัยของหน่วยงานในสังกัด ว่ามีเจ้าหน้าที่ถูกร้องเรียน ถูกดำเนินการทางวินัย ทั้งกรณีที่ประชาชนร้องเรียน หรือ ศอตช. ส่งไป ก็ให้มีการตรวจสอบ และให้เสนอความเห็นต่อปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี แล้วแจ้งให้ ศอตช. ทราบ โดยในกรณีที่ ศปท. มีข้อสงสัยเรื่องการทุจริต ก็มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบว่าที่ต้นสังกัดดำเนินการนั้นถูกต้องหรือไม่ หาก ศปท.ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลการตรวจสอบไม่ตรงกันกับต้นสังกัด ก็ต้องปรับแก้คำสั่งนั้น ซึ่งกระบวนการจะคล้ายกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2559 ที่ให้อำนาจศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเปรียบเทียบผลการสอบสวนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องการประเมินสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการทุจริตในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏผลว่าสถานการณ์การทุจริตเบาบางลง กลไกภาครัฐทำงานเข้มแข็งขึ้น โดยสรุปคือประสบผลสำเร็จ ซึ่งได้มีการวิเคราะห์จุดเปลี่ยนสถานการณ์การทุจริตว่า อยู่ที่การเสริมสร้างกลไกใหม่ เข้าไปกระตุ้นกลไกราชการให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบธรรมาภิบาล ทั้งการใช้มาตรการทางปกครอง/วินัย เข้าไปกระตุ้น การเสริมมาตรการการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ เข้าไป การร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสำคัญที่จะนำไปสู่ทุจริต เช่น One Map การค้ามนุษย์ ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์การทุจริตในวันนี้ดีขึ้น โดยหลังจากนี้ไปจะดำเนินการขับเคลื่อนงานในสองลักษณะคือ 1. ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในส่วนราชการ/หน่วยงานภาครัฐให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะโดยกฎหมายแล้วเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบธรรมาภิบาล ถ้าออกนอกกรอบธรรมาภิบาลก็ผิดวินัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของส่วนราชการที่ต้องดำเนินการทางวินัย หากหัวหน้าส่วนราชการไม่ดำเนินการก็ผิดวินัย 2. ขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ ที่ในช่วงจากนี้ไปได้ตั้งเป้าไว้ 3 ประการ คือ 1. คนโกงรายเก่าจะต้องหมดไป โดยมีการปราบปรามอย่างมีประสิทธิภาพ 2. คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด โดยการป้องกันอย่างครบถ้วน 3. ไม่เปิดโอกาสให้ได้โกง โดยเสริมสร้างภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ ศอตช. จะร่วมกับองค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ดำเนินการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจทั้ง 53 แห่ง และ ปปท. จะร่วมกับ กทม. เฝ้าระวังเสริมสร้างธรรมาภิบาลใน กทม. เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังในพื้นที่ให้มากที่สุด

ด้าน ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ ว่า ในปีนี้จะจัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเข้าร่วมงานจากประชาชนเป็นอย่างดียิ่ง มีประชาชนเข้าร่วมงานมากขึ้นทุกปี โดยในปีนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมงานอย่างเต็มที่ โดยจะจัดงานขึ้นทั่วประเทศ ในวันที่ 6 กันยายน 2559 เวลา 09.00-12.00 น. จะมีการประชุมวิชาการ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และในวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2559 เวลา 18.00 น. จะมีการจัดงานขึ้นพร้อมกันที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร และศาลากลางจังหวัด ทั่วประเทศ โดยกระทรวงมหาดไทยและภาคเอกชน ภายใต้แนวคิดการจัดงาน “กรรมสนองโกง” เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้คนโกงและสังคมได้รู้ว่ากรรมนั้นมีอยู่จริง โดยไฮไลต์ที่สำคัญของงานที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 11 กันยายนนี้ คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง มาตรการการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม และนายกรัฐมนตรีจะเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมกันจุดไฟไล่โกงครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศเพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนได้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่การจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ เพื่อเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียงทั่วประเทศ

 


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.ย. 2559 เวลา : 15:42:29

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:24 am