ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
เปิดโครงการ 'เพิ่มมูลค่าและสร้างแบรนด์สินค้าระดับพรีเมียมของจ.ชายแดนภาคใต้'


 


ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (CLC) ม.ทักษิณ ร่วมกับสำนักบริหารยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0 เปิดโครงการ “เพิ่มมูลค่าและสร้างแบรนด์สินค้าระดับพรีเมียมของจังหวัดชายแดนภาคใต้” ยกระดับศักยภาพฐานรากเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ Creative Lab Center (CLC) มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับสำนักบริหารยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “เพิ่มมูลค่าและสร้าง แบรนด์สินค้าระดับพรีเมียมของจังหวัดชายแดนภาคใต้” เผย 2 สินค้าต้นแบบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดรังนก ภายใต้แบรนด์ NAT และ ผลิตภัณฑ์ตกแต่งโคมไฟจากวัตถุดิบยางพาราและกาบกล้วย ภายใต้แบรนด์ ECONI อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส (ผู้แทนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน) พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ลานวอเตอร์ การ์เด้น ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม ควอเทียร์
 

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Creative Lab Center - CLC) เป็นศูนย์ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาเพื่อพัฒนาประเทศชาติ เพิ่มศักยภาพและมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนชุมชน สังคม เศรษฐกิจฐานราก และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นำความคิดสร้างรรค์ และการออกแบบมาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อเดือนเมษายน 2559 ได้รับคัดเลือกจากสำนักบริหารยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ให้เป็นที่ปรึกษาและดำเนินงานโครงการเพิ่มมูลค่าและสร้างแบรนด์สินค้าระดับพรีเมียมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์พัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตชุมชนและสังคมจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อลดปัญหาช่องว่างและปัญหาในทุกๆ มิติ ริเริ่มโครงการนำทรัพยากรพื้นถิ่น เช่น รังนกหรือเศษรังนก ยางพารา มาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์สินค้าระดับพรีเมียม
 

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักบริหารยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งมั่นดำเนินโครงการต่างๆ ยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ นโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวสำเร็จลุล่วงได้นั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน พร้อมขานรับยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0”  ที่มุ่งนำนวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ มาช่วยพัฒนาประเทศชาติ กระทรวงฯ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ม. ทักษิณ จัดทำโครงการศึกษาและวิจัยหาทรัพยากรพื้นถิ่นที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์สินค้าระดับพรีเมียม โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย เพื่อสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรต่างๆ รวมถึงสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้ชาวบ้านและสร้างแรงจูงใจให้ไม่ละทิ้งถิ่นฐาน ละที่สำคัญคือรณรงค์ให้ประชาคมโลกรู้จักและรู้ค่าทรัพยากรพื้นถิ่นของจังหวัดชายแดนใต้และประเทศไทย”

 
รศ.ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า “วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ คือการรณรงค์ให้คนในชุมชนทุกภาคส่วนหันมาร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ ผลักดันให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้ทรัพยากรท้องถิ่น นำไปสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านคุณภาพและการออกแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ทิศทางและแนวโน้มของตลาดที่จะมีการเติบโตสูงทั่วโลก คือ สินค้าและบริการที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เช่น ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพและความงาม และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน (Environmental Friendliness and Energy Conservation) เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เอง ทั้งนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ได้นำแนวโน้มตลาดดังกล่าว มาวิเคราะห์ควบคู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านและวัตถุดิบพื้นถิ่นในภาคใต้ โดยได้เลือก รังนก และยางพารา ทรัพยากรหลักในท้องถิ่นของภาคใต้ ที่มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจและรายได้ของชุมชนมาเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน คณะผู้จัดทำ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับรากฐาน คือ การส่งเสริมคนในชุมชน และผู้ประกอบการท้องถิ่น รวมถึงระดับประเทศอันได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคงและมั่นคงให้กับประเทศ และท้ายที่สุดคือการทำงานอย่างสมานฉันท์และบูรณาการระหว่างประชาชนกับภาครัฐ และการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างประสร้างความเและเป็นต้นแบบการภัฒนาให้กับภูมิภาคอื่นๆ โดยมีผลิตภัณฑ์สองแบรนด์นี้เป็นต้นแบบ”

 
2 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากโครงการฯ ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากสารสกัดรังนก: สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจทางภาคใต้ การสัมปทานรังนกที่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่า รังนกจะขายได้ราคาดีเฉพาะสินค้าเกรดเอที่มีรูปร่างสมบูรณ์เท่านั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำชิ้นส่วนรังนกมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ โดยนำสารสกัดรังนกมาเพิ่มคุณค่าเป็นส่วนประกอบในเวชสำอาง ควบคู่กับน้ำมันสกัดจากข้าวหอมกระดังงา ซึ่งเป็นข้าวสายพันธ์พื้นถิ่นหนึ่งเดียวในโลก ที่ปลูกได้เฉพาะในตำบลตากใบ จังหวัดนราธิวาสเท่านั้น ที่มีความหอมละมุน และสรรพคุณในการฟื้นฟูสภาพผิว นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ตอบโจทย์ความต้องการทางการตลาดของกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องการดูแลผิวพรรณและความงาม ภายใต้แบรนด์ NAT ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Natural และ Narathiwas สินค้าตัวแรกในซีรีย์นี้คือ Sleeping Mask Cream เหมาะสำหรับคนวัยทำงานที่มีเวลาดูแลตัวเองน้อยลง นับเป็นนวัตกรรมในการดูแลผิวอย่างล้ำลึก ในขั้นตอนเดียว และเห็นผลในชั่วข้ามคืน ด้วยคุณค่าจากสารตั้งต้นที่มีสรรพคุณในการปรับสภาพผิว คืนความชุ่มชื่น และบำรุงด้วยสารอาหารโปรตีน
 
- ผลิตภัณฑ์ตกแต่งโคมไฟจากวัตถุดิบยางพาราและกาบกล้วย: ประเทศไทยมุ่งเน้นส่งออกวัตถุดิบมาช้านาน เมื่อเกิดปัญหายางพาราตกต่ำ ทำให้เราส่งวัตถุดิบไปขายต่างประเทศในปริมาณที่มากแต่ราคาถูก ดังนั้น ศูนย์ฯ จึงเห็นความจำเป็นที่จะพัฒนาประบวนการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรของเราอย่างเร่งด่วน รวมทั้งสนองความต้องการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน จึงได้นำน้ำยางพารามาวิจัยและแปรรูปเป็นสารเคลือบที่ทนความร้อนและกันเชื้อรา แล้วนำไปประกอบกับวัสดุธรรมชาติ เช่น กาบกล้วย สร้างสรรค์เป็นโคมไฟตกแต่งบ้าน  ภายใต้ชื่อแบรนด์ Econi ซึ่งเป็นการรวมกันของคำว่า “Eco” ซึ่งเป็นการห่วงใยและต้องการรักษาระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน และคำว่า “นิ” ซึ่งเป็นคำที่ชาวใต้จะใช้เป็นคำลงท้ายอยู่เป็นประจำ 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.ย. 2559 เวลา : 17:46:08

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:46 am