ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กทม. จับมือ สธ. เข้มมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของไข้ซิกาในพื้นที่


 


(12 ก.ย. 59) เวลา 09.30 น. พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้ซิกาในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อไข้ซิกาในพื้นที่เขตสาทรเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 59 โดยมี นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ นพ.อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน ส.ค. 59 กรุงเทพมหานครพบผู้ติดเชื้อไข้ซิกาจำนวน 7 ราย ทุกรายหายเป็นปกติแล้ว และเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 59 เวลาประมาณ 16.00 น. กรุงเทพมหานครได้รับรายงานจากโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่าพบผู้ติดเชื้อไข้ซิกา จำนวน 1 ราย เป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตสาทร ซึ่งเมื่อกรุงเทพมหานครได้รับรายงานดังกล่าวแล้วในวันรุ่งขึ้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอบสวนโรค เฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่เชื้อไข้ซิกา ด้วยการตรวจเลือดและปัสสาวะผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อ พร้อมทั้งกำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงในรัศมี 100 เมตรจากบ้านของผู้ติดเชื้อ เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อซึ่งเบื้องต้นได้ระหว่างวันที่ 2 – 5 ก.ย. 59 พบผู้ติดเชื้อ 21 ราย และในวันที่ 7 ก.ย. 59 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดระยะควบคุม 7 วัน ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามยังรอผลตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเติมอีก 30 กว่าราย โดยผู้ที่ตรวจพบเชื้อไข้ซิกา จำนวน 21 ราย ในจำนวนนี้มี 3 ราย ที่มีประวัติเดินทางไปมาระหว่างเขตสาทรกับต่างจังหวัด และที่เหลือมีบางส่วนไม่ได้อยู่ในพื้นที่เขตสาทรแต่อาศัยอยู่ในเขตอื่น กรุงเทพมหานครก็ได้ประสานไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อเดินทางไป หรือพักอาศัยอยู่ให้ติดตามดูแลและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มเติม ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อทั้ง 22 คน ขณะนี้ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นและหายเป็นปกติแล้ว

 
สำหรับผู้ป่วยเป็นไข้ซิกาจะมีอาการไข้ ผื่น ปวดข้อ และตาแดง อาการของโรคจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต การรักษาจะทำตามอาการ ประมาณ 5 – 7 วันจะดีขึ้น แต่ที่ต้องระวังคือ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เนื่องจากเชื้ออาจถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้โดยเฉพาะหญิงที่ตั้งครรภ์อ่อนในช่วงกำลังสร้างอวัยวะจะส่งผลให้เด็กที่เกิดมามีภาวะศีรษะเล็กและพัฒนาการช้าได้ ซึ่งผู้ติดเชื้อรายที่ 8 ที่ตั้งครรภ์ขณะนี้คลอดแล้วแข็งแรงทั้งแม่และลูก แต่กรุงเทพมหานครยังคงติดตามอาการต่อไปจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ติดเชื้อซิกา นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคไข้ซิกาเป็นพิเศษโดยให้มีการตรวจหาเชื้อไข้ซิกาใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ 2.กลุ่มเด็กที่คลอดแล้วมีศีรษะเล็ก 3.กลุ่มที่มีภาวะปลายประสาทอักเสบ และ 4.ผู้ที่มีอาการไข้ ผื่น ปวดข้อ และตาแดง ส่วนกรณีสงสัยว่าโรคไข้ซิกาสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดแต่ได้มีการเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน

 

ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 31 ส.ค. 59 ทั่วประเทศพบผู้ติดเชื้อไข้ซิกา 97 ราย ควบคุมโรคและอาการหายดีแล้ว ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อไข้ซิกาใน 12 อำเภอ ในพื้นที่ 6 จังหวัด อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดเพิ่มเติม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไข้ซิกาอย่างต่อเนื่อง และจะทำต่อไปอย่างเต็มที่จนกว่าจะควบคุมโรคได้ทั้งหมด


รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากไข้ซิกาแล้วยุงลายยังเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกซึ่งก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน และยังเป็นพาหะของโรคชิกุนกุนยาด้วย การกำจัดยุงลายจะช่วยให้ปลอดภัยจาก 3 โรคดังกล่าวได้ ซึ่งจากการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอบสวนโรค กำจัดยุงลาย และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงในพื้นที่เขตสาทร พบว่ายุงลดลง แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงหน้าฝนและมีฝนตกต่อเนื่องจึงส่งผลให้มียุงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้การควบคุมและกำจัดยุงลายทำได้ยากขึ้น มีความจำเป็นที่ทุกคนจะต้องช่วยกันกำจัดยุงและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงในบ้านและบริเวณใกล้เคียง จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนทุกคนดูแลบ้านเรือนของตนให้สะอาด มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบริเวณบ้านของตน และใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถป้องกันและปลอดภัยจากโรคที่มียุงเป็นพาหะนำโรค พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้ติดเชื้อไข้ซิกาให้อาศัยอยู่ในบ้านของตนงดออกจากบ้านหรือเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น


รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่กำจัดยุงและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างต่อเนื่องโดยตลอดอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานพบผู้ป่วยไข้ซิกาในพื้นที่อื่นกรุงเทพมหานครก็จะดำเนินมาตรการสอบสวนโรคและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับพื้นที่เขตสาทร ทั้งนี้หากประชาชนพบผู้ป่วยไข้ซิกา ไข้เลือดออก หรือไข้ชิกุนกุนยา ให้รีบแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ลงพื้นที่ควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็วต่อไป และประชาชนที่ประสงค์จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้ซิกา โทร. 02245 8106 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 20.00 น. และวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 12.00 น.


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.ย. 2559 เวลา : 14:20:17

25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:32 pm