ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บอร์ด สปส.เห็นชอบให้ผู้ประกันตนเบิกค่าทำฟันเต็มวงเงิน 900 บาทต่อปี


 


ก.แรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ร่วมมือ ILO เดินหน้าปฏิรูปกองทุนประกันสังคม ตามข้อเสนอ ๕ แนวทาง เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับกองทุนบำนาญชราภาพ พร้อมยกเลิกบัญชีแนบท้ายทันตกรรม 900 บาทต่อปี ไร้เงื่อนไขใช้ได้เต็มวงเงิน

นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปี 2554 มีอัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุต่อประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 – 59 ปี) อยู่ที่ 20 ต่อ 100 และอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 41 ต่อ 100 ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกองทุนประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมได้เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพในปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี และส่งเงินสบทบครบตามกำหนด ได้ยื่นขอรับสิทธิแล้วกว่า 87,00๐ คน เป็นเงินกว่า ๑,๔๕๐ ล้านบาท ในปีหน้าคาดว่าจะมีผู้รับบำนาญเกือบ 200,000 แสนคน และภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมีตัวเลขผู้รับบำนาญเพิ่มถึง 1 ล้านคน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้เล็งเห็นสภาพปัญหาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในอนาคต จึงได้ร่วมมือกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัยของกองทุนชราภาพ 

ผลการวิเคราะห์พบว่าหากไม่ดำเนินการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม รายรับจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละปี ทำให้ต้องดึงเงินกองทุนสะสมออกมาใช้ภายใน 28 ปี และเงินสะสมจะหมดภายใน 38 ปี นับจากปี 2559 และเพื่อไม่ให้ภาระทั้งหมดตกไปถึงมือรุ่นลูกรุ่นหลาน โดย ILO ได้มอบข้อเสนอแก่สำนักงานประกันสังคม 5 แนวทาง ดังนี้ 1.) ปรับฐานค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบจาก 1,650 -15,000 บาท เป็น 3,600-20,000 บาท เนื่องจากค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้น 2.) ขยายอายุเกษียณ จากเดิม 55 ปี  60 ปี โดยจะขยายในปี 2565 เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกันตนที่อยู่ในช่วงใกล้เกษียณ (อายุ 55 ปี) ๓.) ปรับสูตรคำนวณบำนาญจากค่าจ้าง 5 ปีสุดท้ายของการทำงาน เป็น 15 หรือ 20 ปีสุดท้ายของการทำงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกันตน และกองทุนประกันสังคมมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายเงินบำนาญตลอดไป ๔.) ปรับอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพจาก  ร้อยละ 3 เป็นไม่เกินร้อยละ 5  และ ๕.) ปรับนโยบายการลงทุนให้เหมาะสม โดยให้แยกหน่วยลงทุนเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้กำกับของสำนักงานประกันสังคม (SDU) เพื่อสร้างเสถียรภาพและความคล่องตัวในการลงทุน

ในการนี้ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวเพิ่มเติมในกรณีการยกเลิกบัญชีแนบท้ายประกาศการทันตกรรม ว่า “เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการการแพทย์ได้พิจารณาเห็นชอบยกเลิกประกาศดังกล่าวและเสนอต่อคณะกรรมการสำนักงานประกันสังคม ในวันที่ 13 กันยายน 2559 โดยคณะกรรมการประกันสังคม มีมติเห็นชอบดังนี้ 1.) ยกเลิกบัญชีแนบท้ายประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2599 เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน  
 
2.) กำหนดให้สถานพยาบาลคู่สัญญาของสำนักงานประกันสังคมให้บริการในอัตราตามความเป็นจริง 3.) ขยายหน่วยบริการรับทันตกรรมเพิ่มเติมโดยจะประสานขอความร่วมมือสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสังกัดอื่นๆ ให้ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมไม่ต้องสำรองจ่ายในวงเงิน 900 บาทต่อปี และให้สถานพยาบาลนั้นๆ เบิกจ่ายสำนักงานประกันสังคมได้โดยตรง โดยล่าสุด มีสถานพยาบาลรัฐและเอกชน สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 78 แห่ง ซึ่งจะเริ่มโครงการนำร่องและการให้สิทธิการเบิกค่าทันตกรรมคนละ 900 บาทต่อปี ในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะขยายผลโครงการนำร่องฯให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560”
 

LastUpdate 14/09/2559 18:37:12 โดย : Admin

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:54 pm