ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สถานการณ์ราคาน้ำมันและแนวโน้มประจำสัปดาห์ 19 - 23 ก.ย. 59 - บมจ.ไทยออยล์


 


หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันและแนวโน้มประจำสัปดาห์ 19 - 23 ก.ย. 59
 

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 42 – 47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 44 – 49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 - 23 ก.ย. 59) 
          ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังยังคงได้รับแรงหนุนจากการประชุมในปลายเดือนนี้ระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก ที่มีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงหลังตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม  อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังการขนส่งน้ำมันดิบกลับมาเป็นปกติ และปริมาณการส่งออกจากลิเบียและไนจีเรียที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
          โอกาสความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกในการประชุมในวันที่ 26 – 28 กันยายนที่ประเทศแอลจีเรีย เพื่อหารือสถานการณ์ตลาดและมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น หลังรัสเซียและซาอุดิอาระเบียได้บรรลุข้อตกลงในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน โดยทั้งสองประเทศจะเริ่มมีการหารือข้อตกลงที่ชัดเจนในเดือน ต.ค.
          ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 20 – 21 ก.ย. ตลาดคาดว่ามีโอกาสเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีภาคการบริการ (ISM) และการจ้างงานนอกภาคเกษตร อย่างไรก็ตาม ตลาดมองว่ามีโอกาสกว่าร้อยละ 40 ที่ตลาดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.
          ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากกลุ่มลิเบียและไนจีเรียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มมากขึ้น หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเริ่มคลี่คลายลง โดยความคืบหน้าล่าสุดลิเบียประกาศยกเลิก Force Majeure และเตรียมกลับมาส่งออกน้ำมันดิบจากท่าขนส่งน้ำมันดิบ Zuwetina,  Es Sider และ Ras Lanuf แล้ว หากสามารถเปิดดำเนินการได้ จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวันจากปัจจุบันที่ประมาณ 290,000 บาร์เรลต่อวัน สำหรับไนจีเรีย หลังจาก Shell กลับมาดำเนินการส่งออกน้ำมันดิบ Bonny Light ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท Exxon Mobil กลับมาเสนอขายน้ำมันดิบ Que Iboe ในตลาดแต่ยังคงสถานะ Force Majeure ไว้ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ปริมาณการส่งออกจะปรับเพิ่มขึ้นยังคงมีความเสี่ยงหลังกลุ่มชนบทในลิเบียเกิดความไม่พอใจกับรัฐบาลที่มีการใช้กำลังในช่วงที่ผ่านมาและส่งผลก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้นำคนสำคัญของกลุ่ม
          ภาวะอุปทานน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปล้นตลาดมีแนวโน้มส่งผลกดดันราคาต่อเนื่อง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการขนส่งน้ำมันดิบที่กลับมาเป็นปกติ และปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังอุปสงค์เริ่มปรับตัวลดลง จากรายงานล่าสุดของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงาน น้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 9 ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 4.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังปรับเพิ่มขึ้น 0.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.34 ล้านบาร์เรล
          ปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ก.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับ 414 แท่น ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 84 แท่นจากต้นเดือน ก.ค. หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันดิบที่ราว 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยกว่า 2 ใน 3 ของปริมาณแท่นขุดเจาะที่เพิ่มขึ้นมาจากแหล่งผลิต Permian ส่งผลให้ปริมาณแท่นขุดเจาะปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นมาใกล้ระดับต้นปี 2559 
          ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน ดัชนีการบริการและภาคการผลิตยูโรโซน และดัชนีการผลิตสหรัฐฯ 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 - 16 ก.ย. 59)
          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 43.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 2.24 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 45.77 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 41 เหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากรายงานประจำเดือน ก.ย.ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) และรายงานประจำเดือน ก.ย. ของโอเปก มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่คาดว่าตลาดจะเข้าสู่สมดุลช้ากว่าที่วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยสาเหตุหลักมาจาก อุปสงค์มีแนวโน้มชะลอตัวลงในครึ่งปีหลังนี้ นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังถูกกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ หลังนักลงทุนเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ 
 

โดย หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ประจำวันที่ 19 ก.ย. 2559
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ก.ย. 2559 เวลา : 11:01:02

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 1:10 am