ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมสบส. ดึงอสม. ร่วมสร้างอาสาสมัครประจำครอบครัวง 4 ล้านคน


 


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งสร้างความเข้มแข็งทางสุขภาพแก่ประชาชน  ขยายการอบรมอาสาสมัครประจำครอบครัว ระยะที่ 2 เพิ่มอีก 4 ล้านคน เน้นครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0-5 ปี ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว พร้อมดึงอสม.ร่วมเป็นครูพี่เลี้ยง เรียนต่อเนื่องไม่น้อย 18 ชั่วโมง มั่นใจไทยจะสามารถเอาชนะปัญหาสุขภาพในศตวรรษที่ 21 ทั้งโรคไม่ติดต่อโดยเฉพาะ 5 โรคฮิต ซึ่งมีผู้ป่วยแล้วประมาณ 18 ล้านคน ค่ารักษาสูงปีละกว่า 25,000 ล้านบาท และการรองรับสังคมผู้สูงอายุไทยที่เหมาะสม รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพเด็กไทยสมบูรณ์แบบ คาดไทยดำเนินการแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก

          
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข   ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2560 นี้ กรมสบส.จะขยายผลการพัฒนาอาสาสมัครประจำครอบครัว หรืออสค.ในระยะที่ 2  ต่อเนื่องจากระยะแรกในปี 2559 จำนวน 40,000 คน ที่จะสิ้นสุดในปลายเดือนนี้ โดยรุ่นแรกได้คัดเลือกผู้เรียนจากผู้ที่ทำหน้าที่ให้การดูแลผู้ป่วยในบ้านอยู่แล้ว เน้น 3 กลุ่มได้แก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ครัวเรือนละ 1 คน ตำบล 5 คน เพื่อเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพดูแลผู้ป่วยเช่น การปรุงอาหารถูกกับโรค การช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะปกติและฉุกเฉินเป็นต้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพของภาคประชาชนถึงในระดับครัวเรือน หน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ระบบการสาธารณสุขของประเทศมีความเข้มแข็งและประสบผลสำเร็จในที่สุด   

         
 
อธิบดีกรมสบส.กล่าวว่า การพัฒนาอสค.ในระยะที่ 2 นี้ ตั้งเป้าจำนวน 4 ล้านคน โดยจะขยายเข้าสู่ครัวเรือนทั้งมีและไม่มีผู้ป่วย ได้แก่ ผู้สูงอายุ บ้านที่มีเด็กอายุ 0-5 ปี และโรคเรื้อรังอื่นๆเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โดยมีสถานบริการสุขภาพในพื้นที่ ดำเนินการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กรมสบส.จัดทำร่วมมือกับกรมวิชาการต่างๆ และจะให้อสม.ที่มีอยู่แล้ว 1 ล้าน 4 หมื่นกว่าคน ร่วมเป็นครูพี่เลี้ยงถ่ายทอดความรู้ให้อสค.ด้วยในอัตรา อสม.1 คนต่ออสค. 3 คน ใช้เวลาเรียนทั้งที่บ้านและห้องเรียนไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง รวมทั้งให้มีทักษะต่างๆในการดูผู้ป่วยอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพเด็กไทยให้มีความฉลาดทั้งไอคิว อีคิว และอื่นๆ มีศักยภาพแข่งขันกับต่างประเทศได้ จะเริ่มอบรมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

          
ทั้งนี้สถานการณ์สุขภาพในศตวรรษที่ 21 นี้ ประชาชนไทยเผชิญปัญหา 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือ การเกิดโรคไม่ติดต่อหรือที่เรียกว่าโรคเอ็นซีดี (Non Communicable Diseases :NCDs) ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจ โรคมะเร็ง ทั้ง 5 โรคนี้มีคนไทยป่วยประมาณ 18 ล้านคน เสียค่ารักษาพยาบาล 25,225 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งยังทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรและก่อให้เกิดความพิการด้วย เช่นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น เรื่องที่ 2 คือเป็นยุคที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยเสื่อมถอยและต้องได้รับการดูแล   ผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2558 ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 ล้านกว่าคนหรือเกือบร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ และแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุประเภทติดบ้านติดเตียงต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง     1 ล้านคน ในจำนวนนี้ มี 63,000 คน นอนแซ่วติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้    

          
อธิบดีกรมสบส.กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาให้มีอาสาสมัครประจำครอบครัวครั้งนี้ เชื่อว่าไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ริเริ่ม และเชื่อมั่นว่าระบบการสาธารณสุขของไทยในอนาคตจะเข้มแข็งขึ้นและเข้าถึงทุกครัวเรือน แต่ละครัวเรือนจะสมาชิกอย่างน้อย 1 คน ที่มีความรู้เรื่องสุขภาพดีที่สุด สามารถดูแลครอบครัวในเบื้องต้นได้ ซึ่งอสค.นี้จะไม่มีค่าตอบแทนใดๆ แต่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมต่อเนื่อง และทำงานเชื่อมโยงกับอสม.และบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ มั่นใจว่าเมื่อประชาชนทุกครัวเรือนสามารถดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังรายใหม่ สามารถให้การดูแลผู้ป่วยที่พักฟื้นที่บ้านให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และจะช่วยผ่อนเบาภาระบุคลากรสาธารณสุขที่มีความขาดแคลน และลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล ได้อย่างแน่นอน                               
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2559 เวลา : 14:31:08

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 2:07 am