ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมคร. ร่วมรณรงค์วันหัวใจโลก ' 29 กันยายน' Power your life'


 



กรมคร. ร่วมรณรงค์วันหัวใจโลก  ชี้คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน พร้อมเดินหน้าเสนอ พ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ หวังเป็นเครื่องมือป้องกันควบคุมโรค


วันนี้ (28 กันยายน 2559) นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่าปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 7.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.2 ของสาเหตุการตายทั้งหมด สำหรับประเทศไทย ข้อมูลปี 2557 พบผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจสูงถึง 264,820 คน หรือเฉลี่ยมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจประมาณชั่วโมงละ 30 คน โดยในปี 2559 มีผู้ป่วยรายใหม่ 10,957 คน ซึ่งเฉลี่ยแล้วพบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ เกิดขึ้นชั่วโมงละ 2 คน ทั้งนี้ จากข้อมูลย้อนหลังปี 2555 - 2558  พบว่าคนไทยมีแนวโน้มตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2558 อัตราตายเท่ากับ 28.92 ต่อประชากรแสนคน หรือเท่ากับ 18,922 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน
       
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากผนังหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบหรือตัน จากการมีคราบไขมัน หินปูน สะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแข็ง เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยมีอาการสำคัญ คือ เจ็บแน่นบริเวณกลางหน้าอก ร้าวไปที่กราม สะบักหลัง หรือแขนซ้ายด้านใน ผู้ป่วยจะเหนื่อยง่ายกว่าปกติ มีเหงื่อออก มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นลม หน้ามืด บางรายมีอาการคล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ซี่งสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจาก 2 ปัจจัยเสี่ยงคือ 1.ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้   ได้แก่ น้ำตาลในเลือดสูง อ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารรส หวาน มัน เค็ม จัด เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ผู้ที่มีภาวะเครียด 2.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ พันธุกรรม  อายุที่เพิ่มขึ้น เพศชายเสี่ยงกว่าเพศหญิง
       
เนื่องในวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี ตรงกับวันหัวใจโลก กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงขอเชิญชวนประชาชนให้ตื่นตัวต่ออันตรายของโรคหัวใจรวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ สำหรับปี 2559 นี้ สมาพันธ์หัวใจโลกได้กำหนดคำขวัญในการรณรงค์ว่า “Power your life” หรือ“เพิ่มพลังให้ชีวิต” โดยมีประเด็นในการรณรงค์ 3 ข้อ คือ 1.Fuel your heart เติมพลังให้หัวใจ บริโภคอาหารและน้ำ ช่วยเติมพลังให้หัวใจคุณแข็งแรงโดยลดอาหาร หวาน มัน เค็มจัด (น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา,น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา,เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา) เพิ่มผักสดและผลไม้ที่ไม่หวานจัด ลดการดื่มแอลกอฮอล์ 2.Move your heart ออกกำลังกายให้หัวใจขยับอย่างน้อย 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์  ทำตัวให้กระฉับกระเฉงเสมอ และ 3.Love your heart รักษ์หัวใจ การงดสูบบุหรี่เป็นสิ่งเดียวที่ดีที่สุด ที่คุณสามารถทำได้ เพื่อสุขภาพหัวใจของคุณ
         
สำหรับการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มีช่องทางในการประเมิน 2 ช่องทาง คือ 1. การประเมินโดยบุคลากรสาธารณสุข โดยใช้ตารางสี ซึ่งพัฒนาโดยคณะทำงานจัดทำแนวทางการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ร่วมกับคณะนักวิจัย ภายใต้โครงการศึกษาระยะยาวเพื่อหาอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  2528 - 2558 2.การประเมินด้วยตนเองผ่านหน้าเว็บไซต์ออนไลน์ โดยสามารถเข้าไปประเมินได้ที่ http://med.mahidol.ac.th/cvmc/thaicv/ หรือ ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ทั้งระบบ android และ IOS ชื่อแอพพลิเคชั่น Thai CV risk calculator ซึ่งข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ เพศ อายุ รอบเอว การสูบบุหรี่ การเป็นโรคเบาหวาน ค่าความดันโลหิต ค่าระดับไขมันในเลือด
         
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้ร่างพ.ร.บ.โรคไม่ติดต่อ พ.ศ. .... เพื่อหวังนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อที่เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นจำนวนมากหรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่น โรคความดันโลหิตสูงที่พบสูงผิดปกติทั้งอำเภอ คอพอกเป็นพิษทั้งอำเภอ ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอ ครม. และคณะกรรมาธิการเพื่อให้เอื้อต่อการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ย. 2559 เวลา : 18:18:38

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 10:01 am