ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แนะปรับร่างกายหลังออกเจ เน้น ผัก ผลไม้ อาหารย่อยง่าย ลดหวาน มัน เค็ม


 


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนปรับสภาพร่างกายหลังออกเจ เน้นกินผัก ผลไม้ เนื้อปลา อาหารย่อยง่าย เลี่ยงเนื้อวัว เนื้อหมู ลดหวาน มัน เค็ม
       
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงกินเจติดต่อกันส่งผลให้ร่างกายมีการปรับระบบการย่อยอาหาร จากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักแทน เมื่อร่างกายต้องกลับมากินอาหารตามปกติ ผู้บริโภคจึงต้องมีการปรับสภาพร่างกายด้วยการกินอาหารย่อยง่ายประเภทเนื้อปลา ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยากประเภท เนื้อวัว เนื้อหมู เนื่องจากระยะแรกร่างกายอาจจะต้องมีการปรับระบบการย่อยอาหารจากพืชผักมาเป็นเนื้อสัตว์ ซึ่งหากมีการบริโภคอาหารที่ย่อยยากในช่วงแรกอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยได้ โดยภายหลังจากที่ร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารได้กลับมาสู่ภาวะเดิม ผู้บริโภคจะสามารถกินอาหารตามปกติได้ และทางที่ดีควรกินอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัย
        
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า การกินอาหารเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการในแต่ละวันควรยึดตามโภชนบัญญัติ 9 ประการ คือ 1) กินอาหารให้ครบ ทั้ง 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย และหมั่นดูแลน้ำหนัก 2) กินข้าวเป็นอาหารหลัก สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ 3) กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำ 4) กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ และกินไข่วันละ 1 ฟองสำหรับคนทั่วไป และไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง 5) ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัยเพราะนมเป็นแหล่งโปรตีน วิตามินบีและแคลเซียม 6) กินอาหารที่มีไขมันแต่พอเหมาะ ซึ่งโดยปกติร่างกายควรได้รับไขมันในแต่ละวันไม่เกินร้อยละ 20 - 35 ของพลังงานที่ได้รับจากสารอาหารทั้งหมด คือไม่ควรเกินวันละ 6 ช้อนชา 7) หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่หวานจัดและเค็มจัด 8) กินอาหาร ที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน และ 9) งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
       
"ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถควบคุมอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความจำเป็น โดยใช้หลักกินถูกส่วน 2:1:1 คือ แบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน โดย 2 ส่วนหรือครึ่งหนึ่งของจานเป็นผักหลากหลายชนิด อีก 1 ส่วนของจานเป็นกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลืองหรือเต้าหู้ และอีก 1 ส่วนของจานที่เหลือเป็นกลุ่มข้าวแป้ง โดยเน้นกินผักให้มาก เพราะผักให้พลังงานน้อยและยังอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส โฟเลท และใยอาหารสูง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพในการป้องกันโรค และเพิ่มภูมิต้านทานโรค ขับถ่ายสะดวก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 

บันทึกโดย : วันที่ : 10 ต.ค. 2559 เวลา : 10:48:07

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:34 pm