ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปภ.รายงานอุทกภัย 7 จังหวัดเริ่มคลี่คลาย


 


เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 59 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 7 จังหวัด รวม 40 อำเภอ 322 ตำบล 2,148 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคกลาง 6 จังหวัด 38 อำเภอ 312 ตำบล 2,105 หมู่บ้าน ได้แก่ นครสวรรค์ เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 14 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าตะโก อำเภอลาดยาว อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอโกรกพระ อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอชุมแสง อำเภอพยุหะคีรี อำเภอตาคลี อำเภอไพศาลี อำเภอตากฟ้า อำเภอแม่วงก์ อำเภอหนองบัว และอำเภอชุมตาบง รวม 118 ตำบล 1,152 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,252 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 269,474 ไร่
          
ชัยนาท น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองมะโมง อำเภอหันคา อำเภอสรรคบุรี อำเภอวัดสิงห์ อำเภอมโนรมย์ และอำเภอสรรพยา รวม 30 ตำบล 174 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,708 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 37,837 ไร่ สิงห์บุรี น้ำจากจังหวัดนครสวรรค์และน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี และอำเภอเมืองสิงห์บุรี รวม 13 ตำบล 76 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,723 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 13,927 ไร่
          
อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอไชโย รวม 20 ตำบล 55 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,355 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 6,361 ไร่ พระนครศรีอยุธยา น้ำจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอมหาราช และอำเภอนครหลวง รวม 110 ตำบล 629 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 35,130 ครัวเรือน
          
ปทุมธานี น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก และอำเภอหนองเสือ รวม 19 ตำบล 19 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 2,167 ครัวเรือน ภาคเหนือ 1 จังหวัด 3 อำเภอ 12 ตำบล 43 หมู่บ้าน ได้แก่ พิจิตร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอโพทะเล และอำเภอโพธิ์ประทับช้าง รวม 12 ตำบล 43 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,916 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 63,660 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำท่วมลดลงในทุกจังหวัด เนื่องจากพื้นที่บริเวณเหนือเขื่อนมีปริมาณฝนลดลง จึงได้มีการปรับลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง
          
ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมประสานการระบายน้ำกับหน่วยชลประทานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนเขตเศรษฐกิจไปยังแหล่งรองรับน้ำ รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบนอำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนย้ายสิ่งของแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พร้อมเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณะประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ต.ค. 2559 เวลา : 12:45:30

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:04 pm