ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมปัองกันสาธารณภัย เตือนจังหวัดภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนัก 16 -20 ม.ค. ประสาน 5 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง เตรียมรับมืออุทกภัยและดินถล่ม


นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 16 – 20 มกราคม 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยวันที่ 16 - 18 มกราคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และช่วงวันที่ 19 - 20 มกราคม 2560 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 – 3 เมตร

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 5 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เตรียมรับมืออุทกภัยและดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
โดยหากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในขณะนี้ นายฉัตรชัยกล่าวว่า ฝนที่ตกหนักตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 119 อำเภอ 722 ตำบล 5,613 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 531,911 ครัวเรือน 1,621,414 คน ผู้เสียชีวิต 43 ราย สถานที่ราชการเสียหาย 20 แห่ง ถนน 1,172 จุด คอสะพาน 191 แห่ง

 

ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง นราธิวาส ปัตตานี กระบี่ และชุมพร ยังคงมีสถานการณ์ใน 6  จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ รวม 36 อำเภอ 189 ตำบล 1,309 หมู่บ้าน


โดยพัทลุง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง  อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว รวม 10 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,274 ครัวเรือน 64,018 คน อพยพประชาชนในพื้นที่อำเภอควนขนุน 5 ครัวเรือน 10 คน ผู้เสียชีวิต 5 ราย

สงขลา มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด รวม 17 ตำบล 86 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,880 ครัวเรือน 26,715 คน อพยพ 19 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย

ตรัง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด และอำเภอวังวิเศษ  รวม 16 ตำบล 54 หมู่บ้าน 1 เทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,242 ครัวเรือน 18,369 คน อพยพ 341 ครัวเรือน 1,166 คน  ผู้เสียชีวิต 2 ราย

สุราษฎร์ธานี มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระแสง อำเภอเวียงสระ อำเภอเคียนซา อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอพุนพิน รวม 37 ตำบล 195 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,405 ครัวเรือน 24,905 คน ประชาชนอพยพ 225 ครัวเรือน 690 คน ผู้เสียชีวิต 7 ราย

นครศรีธรรมราช มีสถานการณ์ น้ำท่วมใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร อำเภอปากพนัง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอพระพรหม อำเภอถ้ำพรรณรา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช รวม 72 ตำบล 629 หมู่บ้าน  84 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 145,294 ครัวเรือน 460,270 คน ผู้เสียชีวิต 11 ราย

ประจวบคีรีขันธ์ มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอกุยบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี รวม 37 ตำบล 325 หมู่บ้าน 2 เทศบาล 25 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,810 ครัวเรือน 66,486 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย โดยภาพรวมสถานการณ์ในปัจจุบันระดับน้ำลดลงทุกจังหวัดแล้ว

ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการฟื้นฟู พื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์ สถานที่ราชการ และซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รวมถึงเส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัย ที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์






บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ม.ค. 2560 เวลา : 10:25:57

20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:31 pm