ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำวันปรับขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดปริมาณการส่งออก (11/10/60)


ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดปริมาณการส่งออก และโอเปกมีความเชื่อมั่นว่าตลาดกำลังกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล 
  + ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดปริมาณการส่งออกลง ประกอบกับโอเปกมีความเชื่อมั่นว่าตลาดกำลังกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล หลังประสบปัญหาอุปทานล้นตลาด เนื่องจากอุปทานที่ปรับตัวลดลงจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและความต้องการใช้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด
  + ซาอุดิอาระเบียปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบลงราว 560,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนพ.ย. ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงของกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตกว่า 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงเดือนมี.ค. 61
  + เลขาธิการของกลุ่มโอเปก หาลู่ทางที่จะประชุมกับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ในสหรัฐฯ เนื่องจากมองว่าผู้ผลิตควรร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ตลาดอยู่ในภาวะสมดุล
  - แหล่งผลิตน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกเริ่มทะยอยกลับมาผลิตอีกครั้ง หลังหยุดดำเนินการผลิตไปราวร้อยละ 85 ของกำลังการผลิตบริเวณอ่าวเม็กซิโก ซึ่งคิดเป็น 1.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรับมือกับพายุเฮอร์ริเคน Nate
  + ผลสำรวจรอยเตอร์ คาดปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สาม หลังโรงกลั่นเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตหลังหยุดดำเนินการผลิตไปในช่วงปลายเดือน ส.ค. จากผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคน Harvey

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังโรงกลั่นบางส่วนลดอัตราการกลั่น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุ Nate 
  ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังคงได้รับแรงหนุนจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในเอเชียเหนือ

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
   ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
   ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง
  ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง จากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับลดลงและกำลังการกลั่นที่คาดจะทรงตัวในระดับสูง หลังโรงกลั่นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey เริ่มกลับมาดำเนินการผลิต โดยในสัปดาห์ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. 60 ปรับลดลงราว 6.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 464 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันและมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.76 ล้านบาร์เรล
  การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกอยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมโดยการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 หรือมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่ โดยในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือขึ้นมาจาก 85% มาอยู่ที่ 94% ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือมาสู่ระดับ 119% ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา 

  จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ หลังรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรัก ลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลใหกับหลายประเทศว่าปัญหาดังกล่าวจะอาจจะเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิเช่น ตุรกีขู่จะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ กำลังการขนส่ง 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากทางตอนเหนือของอิรักที่ถูกควบคุมโดย KRG ไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น 


บันทึกโดย : วันที่ : 11 ต.ค. 2560 เวลา : 10:16:43

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:53 pm