ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
"เฟซบุ๊ก" ประกาศตรวจสอบ "ข่าวปลอม-พวกหัวรุนแรง" ย้ำถึงเป็น "กลุ่มปิด" ก็ไม่รอด


15 ส.ค. 2562 เว็บไซต์ นสพ. The Guardian ของอังกฤษ เสนอข่าว “Facebook's crackdown on dangerous content in groups could backfire, experts say” ระบุว่า “เฟซบุ๊ค” ผู้ให้บริการเว็บไซต์สังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งของโลก ประกาศจะดำเนินนโยบายเชิงรุกด้วยการตรวจสอบเนื้อหาใน “กลุ่มส่วนตัว (Private Group)” หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นที่แพร่กระจาย “ข่าวปลอม (Fake News)” รวมถึงเป็นที่สุมหัวของพวกมีแนวคิดรุนแรง (Extremists)


ทอม อลิสัน (Tom Alison) รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของเฟซบุ๊ค กล่าวว่า แม้จะเป็นกลุ่มปิดส่วนตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการตรวจสอบ ขณะที่ในแถลงการณ์ของเฟซบุ๊ค เปิดเผยว่า ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาสร้างเครื่องมือชื่อว่า “Group Quality” เพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อหาใดในกลุ่มปิดที่ละเมิดข้อกำหนดในการใช้งาน และยังแจ้งให้ผู้ดูแลระบบทราบด้วยว่าเหตุใดเนื้อหาเหล่านั้นจึงถูกลบออก นอกจากนี้ยังให้อำนาจผู้ดูแลระบบปรับสถานะกลุ่มเป็นส่วนตัวหรือสาธารณะ (Private-Public) เพื่อลบกลุ่มนั้นออกจากผลการค้นหา

 
 
 
อย่างไรก็ตาม เบนจามิน เด็คเกอร์ (Benjamin Decker) ซีอีโอของ Memetica บริษัทที่ปรึกษาด้านการสืบสวนบนโลกดิจิทัล มองว่า นโยบายดังกล่าวของเฟซบุ๊คจะทำให้เนื้อหาล่อแหลมต่างๆ ลงไปอยู่ใต้ดินจนยากแก่การตรวจสอบ พร้อมเสนอแนะว่าควรให้นักวิจัยที่เป็นอิสระใช้เครื่องมือเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มปิดจะดีกว่า ทั้งนี้ตนเห็นหลายกลุ่มในเฟซบุ๊ค นอกจากจะตั้งสถานะเป็นกลุ่มปิดแล้วยังตั้งค่าไม่ให้แสดงชื่อกลุ่มในผลการค้นหาด้วย นั่นหมายถึงยากที่จะรู้ว่าเนื้อหาที่ละเมิดข้อกำหนดไปอยู่ ณ จุดไหน

นอกจากนี้การให้อำนาจผู้ดูแลระบบในการตรวจสอบเนื้อหาก็ไม่แน่ว่าจะแก้ปัญหาเนื้อหาล่อแหลมได้ เพราะผู้ดูแลระบบอาจไม่มีแรงจูงใจในการทำให้โลกออนไลน์สะอาดขึ้น หรืออาจดำเนินการใดๆ โดยตั้งอยู่บนอคติ ทั้งนี้เฟซบุ๊คเผชิญข้อเรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้แก้ปัญหาข่าวปลอม การปั่นกระแสสร้างความเกลียดชัง รวมถึงข้อมูลผิดๆ ด้านสาธารณสุข เช่น การต่อต้านการฉีดวัคซีน นำมาสู่การปรับเปลี่ยนกฎการใช้งานอยู่เป็นระยะๆ

ชารอน คานน์ (Sharon Kann) หัวหน้ากลุ่มวิจัยด้านสิทธิการทำแท้งและอนามัยเจริญพันธุ์ องค์กร Media Matters กล่าวว่า ตนหวังให้นโยบายของเฟซบุ๊คสามารถแก้ปัญหาการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่ถูกต้องรวมถึงการคุกคาม แต่ก็ยังมีคำถามอีกว่าเฟซบุ๊คจริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน หากพบเนื้อหาที่มีปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน
 
 
ขอบคุณ : ข้อมูลจาก นสพ.แนวหน้า

LastUpdate 15/08/2562 11:46:17 โดย : Admin

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:57 pm