ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รองนายกฯวิษณุเปิดเผยคำสั่งชุด 1 มี 16 ข้อปฎิบัติและยังไม่มีเคอร์ฟิว


ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยข้อกำหนดฉบับที่ 1 ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเนื้อหาในข้อกำหนดฉบับที่ 1 ประกอบด้วย

          
ข้อ 1. ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ตามที่กำหนดในมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 หรือตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศไว้           
ข้อ 2. การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดออกคำสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 เป็นการชั่วคราว แต่อย่างน้อยให้สั่งปิดสถานที่ดังต่อไปนี้ เช่น สนามมวย สนามกีฬา สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่น สนามม้า ในทุกจังหวัด , ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ สถานประกอบการอาบอบนวด และนวดแผนโบราณ สปา สถานที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) สถานบันเทิง รวมถึงสถานที่อื่น เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุดสาธารณะ ศาสนสถาน สถานีขนส่งหรือโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า อาจปิดเฉพาะส่วนหรือทั้งหมด
          
ข้อ 3. ปิดช่องทางเข้ามาในประเทศทุกเส้นทางคมนาคม ไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางบก ปิดช่องทางเข้าออกประเภท ด่าน จุดผ่านแดน หรือจุดผ่อนปรนตามกฎหมาย ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย, ผู้มีเหตุยกเว้นตามที่นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรืออนุญาตตามความจำเป็น, ผู้ขนส่งสินค้า, ผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ , คณะทูต หรือผู้แทนรัฐบาล, ชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงาในประเทศไทย
 
ทั้งนี้ผู้มีสัญชาติไทยต้องติดต่อสถานทูตไทยหรือกงสุลเพื่อออกหนังสือรับรอง หรือมีใบรับรองแพทย์ ขณะที่บุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly Health Certificate) ที่ออกให้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง และเมื่อเข้ามาแล้วต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจปฏิเสธไม่ให้ชาวต่างชาติที่ตรวจพบหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ยินยอมให้ตรวจ เดินทางเข้ามาในประเทศ
          
ข้อ 4. การห้ามกักตุนสินค้า ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้า ซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงและไม่เกิดภาวะขาดแคลนหรือเดือดร้อนเกินสมควร โดยให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจและควบคุมดูแลผู้ประกอบการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
ข้อ 5. การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด
          
ข้อ 6. การเสนอข่าวห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริง และอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด มิเช่นนั้นต้องถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 
          
ข้อ 7. มาตรการเตรียมรับสถานการณ์ ได้แก่ ให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ, ให้หน่วยงานของรัฐประชาสัมพันธ์เผยแพร่มาตรการช่วยเหลือ หรือบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการต่อประชาชน, ให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลจัดหายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจโรค เครื่องช่วยในการหายใจ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นให้เพียงพอ
 
รวมถึงการเตรียมบุคลากรทางการแพทย์และเตรียมสถานที่กักกัน สถานที่คุมไว้สังเกต หรือเตียงรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้น โดยขอความร่วมมือดัดแปลงสถานที่ต่างๆ เช่น โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย หอประชุม สถานที่ปฏิบัติธรรม ศาลาวัด อาคารของเอกชนที่ยังไม่ได้ใช้งาน หรือสถานที่ราชการ สถานที่เอกชนอื่นๆ เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว กักตัวเองสังเกตอาการ หรือผู้เดินทางมาจากพื้นที่จังหวัดอื่น  
          
ข้อ 8. มาตรการพึงปฏิบัติให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ให้อยู่ในบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป, กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวและกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เว้นแต่มีความจำเป็น
ข้อ 9. ให้เข้มงวดในการตรวจลงตราหรือออกวีซ่าหรืออนุญาตให้ชาวต่างประเทศที่ไม่ได้มีกิจการงานปกติหรือถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศจะได้รับการอำนวยความสะดวก
          
ข้อ 10. มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย ให้เจ้าหน้าที่ รวมถึงทหาร ตำรวจ หรืออาสาสมัคร จัดเวรยามหรือตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่งผู้โดยสารเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม และการรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค และหากพบเห็นการกระทำดังกล่าวให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
          
ข้อ 11. มาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดโดยใช้ปฏิบัติเป็นการทั่วไป ได้แก่ ให้ทำความสะอาดโดยการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องก่อนการจัดกิจกรรม และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน, ให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ผู้ร่วมงาน ผู้ร่วมกิจกรรม ลูกจ้าง ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า, ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค, เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร, ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น เจ้าหน้าที่อาจเพิ่มมาตรการใช้แอพพลิเคชั่นติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ และนำมาตรการคุมไว้สังเกตุหรือมาตรการกักกันตัวอย่างน้อย 14 วัน ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อมาใช้แก่บุคคลบางประเภทหรือบางคนได้ตามความจำเป็น
          
ข้อ 12. เปิดสถานที่ทำการ โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านอาหารในส่วนซึ่งมิใช่สถานบันเทิงหรือสถานบริการ และแผงจำหน่ายอาหารซึ่งผู้บริโภคซื้อไปบริโภคนอกสถานที่ โรงแรมในส่วนที่เป็นที่พักอาศัยและร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้าในแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ตลาดและตลาดนัดส่วนจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ อาหารสัตว์ เวชภัณฑ์และสินค้าเบ็ดเตล็ดจำเป็น ร้านแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส บริการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online) 
          
สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ยังคงเปิดดำเนินการในวันและเวลาราชการตามปกติ เว้นแต่มีประกาศปิดไปก่อนแล้ว เช่น สถาบันการศึกษา แต่ควรให้จัดเหลื่อมเวลาทำงานและพักเที่ยง การทำงานนอกสถานที่ปกติ จัดประชุมสื่อสารทางไกล การให้บริการด้วยการสื่อสารแบบดิจิทัล งดเว้นกำหนดให้ประชาชนต้องมาแสดงตน หรือยกเว้น ขยายเวลา งดหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมภายใต้กรอบของกฎหมาย
          
ข้อ 13. ให้คำแนะนำประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในระยะนี้โดยไม่จำเป็น และควรพักหรือทำงานอยู่ ณ ที่พำนักของตน กรณีจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตพื้นที่ ต้องรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตการที่ทางการราชการกำหนด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวมารับการตรวจอาการหรือกักกันตัว
ข้อ 14. คำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่นๆการจัดกิจกรรมหรือพิธีการทางสังคมตามประเพณีนิยม เช่น พิธีมงคลสมรส พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พิธีบำเพ็ญกุศล พิธีศพ พิธีสงกรานต์หรือกิจกรรมภายในครอบครัว ตลอดจนกิจกรรมหรืองานพิธีที่ทางราชการจัดการหรือเป็นไปตามหมายกำหนดการทางราชการ ยังคงจัดได้ตามความเหมาะสมแต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด
          
ข้อ 15. โทษ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 และ ข้อ 6 แห่งข้อกำหนดนี้ ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 หรือมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 แล้วแต่กรณีด้วย
ข้อ 16. การใช้บังคับ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเป็นอย่างอื่น
          
ในกรณีมีความจำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจออกข้อกำหนดเปลี่ยนแปลง เพิ่มหรือลดมาตรการหรือเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 มี.ค. 2563 เวลา : 18:26:28

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 12:52 am