ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (19 ส.ค.65) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 35.66 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (19 ส.ค.65) ที่ระดับ 35.66 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.62 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักที่ลดลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้ง ดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกที่สำรวจโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย (Philly Fed Manufacturing Index) เดือนสิงหาคมที่พุ่งขึ้นสู่ระดับ 6.2 จุด ดีกว่าคาด รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงสู่ระดับ 2.5 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์ได้อีกครั้ง (ConocoPhillips +3.5%, Exxon Mobil +2.4%) ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.23%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.39% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +2.6%, TotalEnegies +2.4%) แม้ว่าตลาดจะยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย รวมถึงแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังเงินเฟ้อของทั้งยูโรโซนและอังกฤษยังอยู่ในระดับที่สูงมาก

ทางด้านตลาดบอนด์ แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้น รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.89% ซึ่งเราคาดว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในการทยอยเพิ่มสถานะการลงทุน เพื่อเตรียมปรับพอร์ตการลงทุนรับมือกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในอนาคต ตามธีมการลงทุน Yields Curve Flattening ที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกเพิ่มการถือครองบอนด์ระยะยาว พร้อมกับเก็งกำไรว่าบอนด์ยีลด์ระยะสั้นอาจปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 107.5 จุด ซึ่งเป็นการกลับมาแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 เดือน หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 1.009 ดอลลาร์ต่อยูโร ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,771 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวลดลงของราคาทองคำอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในสัปดาห์นี้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต่อเนื่อง จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ อาทิ James Bullard ประธานเฟดสาขา St. Louis ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ของเฟด ในการประชุมเดือนกันยายน และเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนกว่าดอกเบี้ยนโยบายจะแตะระดับ 3.75%-4.00% ภายในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดอย่างใกล้ชิดในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Holes รัฐ Wyoming ในสัปดาห์หน้า

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ท่ามกลางแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ หลังจากที่เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.60 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ในวันก่อนหน้า จากแรงกดดันทั้งการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงขายทำกำไรสถานะการเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าของนักลงทุนต่างชาติที่สะท้อนผ่านโฟลว์ธุรกรรมขายสุทธิบอนด์ระยะสั้นราว 5.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ก็ทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเกือบ 1% ในช่วงวันที่ผ่านมา และจะยังเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท แต่เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจเริ่มแกว่งตัวในกรอบเนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอปัจจัยใหม่ๆ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยใหม่ๆ ที่ตลาดรออาจเป็น ถ้อยแถลงของบรรดาประธานธนาคารกลาง โดยเฉพาะประธานเฟด ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Holes รัฐ Wyoming ในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราเคยประเมินไว้ ทำให้แนวต้านถัดไปของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 35.75-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจากสัญญาณทางเทคนิคัลทั้งจาก RSI และ MACD ก็ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น แต่หากเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องรุนแรงและพลิกกลับมาแข็งค่าจนหลุดระดับ 35.15 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง จะทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทเข้าเงื่อนไขรูปแบบ Head and Shoulders ซึ่งอาจสะท้อนว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่องได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.55-35.75 บาท/ดอลลาร์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ส.ค. 2565 เวลา : 10:03:53

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:08 pm