ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (3 ก.พ.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (3 ก.พ.66) ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.84 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลาง ความหวังแนวโน้มธนาคารกลางหลัก อาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัท Meta (Facebook) ที่ออกมาดีกว่าคาด พร้อมทั้งประกาศแผนคุมต้นทุนและซื้อหุ้นคืน ยังได้หนุนให้ ราคาหุ้น Meta พุ่งขึ้นกว่า +23% สร้างอานิสงส์ให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างปรับตัวขึ้นแรง (Amazon +7.4%, Alphabet +7.3%, Apple +3.7%) ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นต่อเนื่อง +3.25% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.47% อย่างไรก็ดี บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ดังกล่าวต่างปรับตัวลง (Amazon -4.2%, Alphabet -3.7%, Apple -2.1%) ในช่วงหลังปิดทำการ ตามรายงานผลประกอบการที่ออกมาแย่กว่าคาด

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง +1.35% หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.50% สู่ระดับ 2.50% และ 4.00% ตามลำดับ แต่ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ทั้ง ECB และ ECB อาจใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมีนาคม ซึ่งภาพดังกล่าว รวมถึงบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในฝั่งสหรัฐฯ หนุนให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นยุโรปกลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ Adyen +13%, Kering +5.1%, ASML +4.5%

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะที่ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.35% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นแตะระดับ 3.39% หลังตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง แม้ว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า บรรดาธนาคารกลางหลักอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวเคลื่อนไหว sideways หรือย่อตัวลงบ้าง แต่เรามองว่า ควรระวัง รายงานข้อมูลตลาดแรงงานในวันศุกร์นี้ เพราะหากข้อมูลการจ้างงานในฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเติบโตของค่าจ้าง ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ก็อาจส่งผลให้ตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดบอนด์กลับมาผันผวนได้ ทั้งนี้ แม้เรามีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในบอนด์ ทว่านักลงทุนก็ควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเพิ่มสถานะการลงทุน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.7 จุด หลังสกุลเงินหลัก ทั้ง เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) ต่างปรับตัวอ่อนค่าลง จากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังว่า ทั้ง ECB และ BOE อาจใกล้จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น อนึ่ง ควรรอจับตา รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ตลาดค่าเงิน โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ผันผวนได้ ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวลงแรงกว่า -40 ดอลลาร์ สู่ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติมในจังหวะย่อตัวใกล้โซนแนวรับ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านภาวะตลาดแรงงานล่าสุด โดยเราคงมองว่า ธีมหลักของตลาดการเงินอาจเป็น “Good/Upbeat Data = Bad News for Market” หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด อาจทำให้ตลาดกังวลว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า Terminal Rate 5.00% ที่ตลาดคาดหรือเฟดอาจจะไม่ลดดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปีอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนมกราคมอาจเพิ่มขึ้นราว 185,000 ราย ทำให้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 3.6% ทั้งนี้ ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและยังคงตึงตัวจะส่งผลให้ ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ย (Average Hourly Earnings) เพิ่มขึ้น +0.3%m/m หรือ +4.3%y/y

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน หลังจากผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ อย่าง Amazon, Apple, Alphabet ต่างออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งหากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนโดยรวมแย่กว่าคาด ผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ อาจเริ่มขายทำกำไรหุ้นออกมาได้บ้าง หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรงนับตั้งแต่ต้นปี


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ช่วงปิดตลาดวันก่อนหน้า คือ การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว แต่จะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวใกล้โซนแนวต้านแรก แถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้ส่งออกบางส่วนก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้ เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน sideways ใกล้โซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (ประเมินว่า เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมิน ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน

โดยเรามองว่า ควรระวังความผันผวนที่จะกลับมา หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ รวมถึ การเติบโตของค่าจ้างออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกังวลว่า ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง อาจส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอลงช้ากว่าคาด และกดดันให้ เฟดจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว เราอาจเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญที่ประเมินไว้ได้

ทั้งนี้ เราคงเห็นผู้เล่นต่างชาติปรับมุมมองต่อค่าเงินบาทในระยะสั้น หลังเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยขายทำกำไร Short USDTHB หรือบางส่วนอาจ เพิ่มสถานะ Long USDTHB ทำให้เราคงมองว่า เงินบาทอาจผ่านจุดแข็งค่าสุด (32.50 บาทต่อดอลลาร์) ไปแล้วในระยะสั้นนี้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.15 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.พ. 2566 เวลา : 10:05:16

24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 9:44 pm