ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (7 ก.พ.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 ก.พ.66) ที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.70 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลาง ความกังวลว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สูงและอยู่ในระดับสูงดังกล่าวได้นานกว่าคาด หลังตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดคาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 5.25% ก่อนจะปรับลดลงเพียง -0.25% ปลายปี) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวแตะระดับ 3.64% กดดันให้ หุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังคงปรับตัวลง (Apple -1.8%, Alphabet -1.8%) ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.00% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.61%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.78% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งส่งผลให้หุ้นเทคฯ ฝั่งยุโรปปรับตัวลงเช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (Adyen -4.8, ASML -3.0%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Kering -3,8%, Dior -2.4%) ท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ร้อนแรงขึ้น

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.6 จุด ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกลับมาถือเงินดอลลาร์มากขึ้น (รวมถึงปรับลดหรือ cut loss สถานะ Short เงินดอลลาร์) ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติมในจังหวะย่อตัวใกล้โซนแนวรับ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

สำหรับวันนี้ ในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของออสเตรเลียที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ไปมาก จะทำให้ RBA มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 3.35% ได้ในครั้งนี้ และเป็นไปได้ที่ RBA จะยังคงส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

นอกเหนือจากผลการประชุมของ RBA ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด (ช่วงประมาณ 00.40 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางการปรับนโยบายการเงิน หลังข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุดออกมาดีกว่าคาดไปมาก

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงถูกกดดันให้ผันผวนอ่อนค่าลง จากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงแรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ทำให้ในวันนี้ การอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจชะลอลงได้บ้าง โดยเบื้องต้น โซนแนวต้านสำคัญของเงินบาทได้ขยับมาอยู่ในช่วง 33.75 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราเคยประเมินไว้ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านไปไกลมากนัก นอกจากนี้ เราคาดว่า ผู้ส่งออกบางส่วนจะทยอยขายเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง หลังเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.80 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : วันที่ : 07 ก.พ. 2566 เวลา : 09:40:49

26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:17 pm