ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (16 มี.ค.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์




ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (16 มี.ค.66) ที่ระดับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความวิตกต่อระบบธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป ยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างกลับมาเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ อีกครั้ง (ซึ่งเรามองว่า เป็นการขายแบบ panic sell จากความวิตกกังวลมากเกินไป) ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง -0.70% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง ของหุ้นกลุ่มเทคฯ ขนาดใหญ่สหรัฐฯ อาทิ Alphabet +2.3%, Microsoft +1.8% หลังให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสที่จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ และมองว่าเฟดมีโอกาสจะกลับมาลดดอกเบี้ยลงได้ราว -0.75% จนแตะระดับ 4.00% ในการประชุมเดือนธันวาคม

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 กลับมาดิ่งลงแรงกว่า -2.92% ท่ามกลางความวิตกของผู้เล่นในตลาดต่อปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารยุโรปในลักษณะ panic sell (UBS -8.7%, Intesa Sanpaolo -6.9%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP -8.3%, TotalEnergies -5.6%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงต่อเนื่อง (WTI หลุดระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและเพิ่มโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟด ได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลงสู่ระดับ 3.45% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ ควรมองเป็นโอกาสในการทยอยขายทำกำไรสถานะถือบอนด์ มากกว่า ไล่ราคาซื้อ เนื่องจากเราประเมินว่า ปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปจะไม่ลุกลามและบานปลาย กลายเป็นวิกฤต อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในฝั่งสหรัฐฯ ก็มีความต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป กับ ธนาคาร Credit Suisse แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสองภูมิภาคมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ เป็นวิกฤตศรัทธาต่อระบบธนาคาร ซึ่งสถานการณ์สามารถทยอยคลี่คลายลงได้ หากทางการหรือธนาคารกลางสามารถฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาได้ ดังนั้น เราจึงมองว่า บรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และ ECB อาจให้น้ำหนักปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูง (และชะลอลงช้า) มากกว่าวิกฤตศรัทธาในภาคธนาคาร ทำให้การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจะยังไม่จบ และบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากระดับปัจจุบันได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.6 จุด หลังความวิตกกังวลต่อระบบธนาคารล่าสุด มีจุดสนใจที่ฝั่งธนาคารยุโรป ซึ่งความกังวลดังกล่าว ได้กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.058 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามการปรับลดโอกาส ECB ขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ของผู้เล่นในตลาด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยต่อเนื่อง กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดต่างก็ปรับลดโอกาสที่บรรดาธนาคารกลางหลักจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลง สู่ระดับ 1,928 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวมีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมาเงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าขึ้นพอสมควร

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราคาดว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ต่อเนื่อง +0.50% สู่ระดับ 3.00% ได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังอยู่ในระดับที่สูงถึง 8.5% เมื่อเทียบกับเป้าหมายของ ECB ที่ 2.0% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ ECB รวมถึง ถ้อยแถลงของประธาน ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ ECB โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบธนาคารยุโรป ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าธนาคารสำคัญของยุโรปมีความเสี่ยงที่จะปิดตัวลง

ส่วนในฝั่งเอเชีย จะมีผลการประชุมของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ให้รอติดตาม โดยเราประเมินว่า BI จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.75% ต่อ หลัง BI อาจมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้าอาจเพียงพอที่จะคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) ก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

นอกจากการประชุมของธนาคารกลางดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯและยุโรป ต่อเนื่อง ซึ่งความกังวลต่อปัญหาระบบธนาคารอาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นนี้ได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ แต่ทว่า เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลง ทำให้โดยรวมเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงไปมาก

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในวันนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนหนัก โดยในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เงินบาทมีโอกาสเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่อาจส่งผลต่อเนื่องให้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาเป็นฝั่งขายสุทธิสินทรัพย์ในฝั่งไทยได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติอาจไม่ได้รุนแรงมาก เนื่องจากแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ล่าสุด มีลักษณะ panic sell และหากพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมจะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตยังมีโอกาสเกิดไม่มากนัก และเป็นสิ่งที่ทางการสหรัฐฯ และยุโรปสามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้

อนึ่ง เรามองว่า ควรจับตาความผันผวนในตลาดช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมของ ECB อย่างใกล้ชิด โดยเรามองว่า หาก ECB แสดงความมั่นใจว่า วิกฤตในภาคธนาคารจะไม่เกิดขึ้น และเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +0.50% เราอาจเห็นการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ซึ่งอาจจะหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้ แต่หาก ECB ขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% เงินยูโรอาจไม่ได้รีบาวด์แข็งค่าขึ้นไปมาก และในกรณีที่ ECB ไม่ขึ้นดอกเบี้ย หรือ ลดดอกเบี้ยลง (ซึ่งเรามองว่า โอกาสเกิดกรณีนี้ ต่ำมาก) ตลาดจะตีความว่า ปัญหาระบบธนาคารยุโรปมีความน่ากังวลจริงและมีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจเห็นแรงขายสินทรัพย์ฝั่งยุโรปเพิ่มเติม กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงชัดเจนได้ไม่ยาก โดยในกรณีนี้ เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 มี.ค. 2566 เวลา : 10:30:17

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:43 am