ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (29 มี.ค.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.22 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (29 มี.ค.66) ที่ระดับ 34.22 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.28 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลง นำโดยแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Alphabet -1.4%, Meta -1.0%) หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.57% ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนมีนาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.2 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (จาก CME FedWatch Tool) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการย่อตัวลงของหุ้นกลุ่มธนาคาร (BofA -1.3%, Wells Fargo -0.8%) ท่ามกลางความกังวลว่า ทางการสหรัฐฯ อาจคุมเข้มภาคธนาคารสหรัฐฯ มากขึ้น หลังเกิดปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +1.3%, Chevron +1.2%) ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.16% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.45%
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.06% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ (Adyen -4.1%, ASML -2.9%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +2.7%, Shell +1.4%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลว่าตลาดน้ำมันอาจเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวได้
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.5 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลง ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอย่างอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ เรามองว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยลงหรือเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อตาม Dot Plot ล่าสุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น ทว่าการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ กอปรกับความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยหลบความผันผวนในช่วงนี้ ได้ช่วยให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) รีบาวด์ขึ้น จากโซน 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,991 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงเวลา 14.00 น. โดยเราคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับ “ขึ้น” ดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 1.75% พร้อมกันนั้น กนง. อาจปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการบริโภคในประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติดีขึ้นจากการประชุมเดือนธันวาคม ส่วนคาดการณ์ยอดการส่งออกอาจถูกปรับลง ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสอดคล้องกับรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ที่ยอดการส่งออกมีโอกาสหดตัว
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงถูกจำกัดอยู่ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่อาจรอติดตามผลการประชุม กนง. ในวันนี้ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย
 
ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี เราคาดว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุม กนง. (เวลา 14.00 น.)
 
โดยหาก กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ จากเหตุผลเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้นและมองอัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า ก็อาจหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับแถว 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่หาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด แต่มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ หรือ มีการส่งสัญญาณอาจหยุดการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรอประเมินสถานการณ์ เงินบาทก็มีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก (มองว่าไม่ทะลุโซนแนวต้าน 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์) หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทำกำไรทองคำ อีกทั้งผู้เล่นบางส่วนในตลาดต่างก็รอเพิ่มสถานะ Long THB (มองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น) ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง
 
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.30 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 มี.ค. 2566 เวลา : 10:28:25

19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:00 pm