ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (20 เม.ย.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์


ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 เม.ย.66) ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.47 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก หลังผลประกอบการและคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ Netflix -3.2% จะออกมาแย่กว่าคาดหรือน่าผิดหวัง (ราคาหุ้น Tesla ดิ่งกว่า -6.0% ในช่วงการซื้อขาย After market หลังรายงานผลประกอบการแย่กว่าคาด) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ กลุ่ม Healthcare และ กลุ่ม Utilities บ้าง ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ย่อลงเล็กน้อย -0.01%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงราว -0.10% กดดันโดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หลังอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ของ ECB ไปมาก (อัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 6.9%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Semiconductor หลัง ASML -3.7% แสดงความกังวลต่อแนวโน้มความต้องการใช้ Chip แม้ว่ารายงานผลประกอบการล่าสุดจะออกมาดีก็ตาม

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นและแกว่งตัวแถวโซนแนวต้าน 3.60% โดยเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในวันศุกร์นี้ ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด ก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง แต่การปรับตัวขึ้นจะมากหรือน้อย อาจต้องรอลุ้นว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงหรือปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนอาจรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ได้ เช่น รอซื้อสะสมหลังเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน แต่โดยรวมแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ รวมถึงความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยมีจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวหลุดแนวรับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะได้แรงซื้อในจังหวะย่อตัวหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 2,005 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อใช้ประกอบการประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยเฉพาะหากผลประกอบการหรือคาดการณ์ผลประกอบการออกมาน่าผิดหวัง ก็อาจส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยงต่อได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าไปตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของราคาทองคำ แต่เงินบาทก็ยังคงไม่สามารถทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ ก่อนที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลงเล็กน้อย ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้น (ซึ่งอาจมีผู้เล่นบางส่วนขายทำกำไรการรีบาวด์ทองคำออกมาบ้าง)

ในวันนี้ เรามองว่า หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากแรงขายสินทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีในระหว่างวัน การอ่อนค่าของเงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวต้านแถว 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่ามาใกล้โซนดังกล่าวพอสมควร

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ โดยหากยอดดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำหรือออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจหนุนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อและอาจส่งผลให้ เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งต้องจับตาว่า ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) จะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 102.5 จุด ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะเป็นสัญญาณสะท้อนว่า ดัชนีเงินดอลลาร์มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อทดสอบโซน 103 จุด ขึ้นไป

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.55 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 เม.ย. 2566 เวลา : 09:56:17

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:49 am