ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (30 พ.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์


 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (30 พ.ค.66) ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดทำการเนื่องในวันหยุด Memorial Day แต่ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง โดยดัชนีฟิวเจอร์ส S&P500 ปรับตัวขึ้นต่อราว +0.26% จากข่าวความคืบหน้าการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่เหลือต้องรอลุ้นว่าสภาคองเกรสจะผ่านร่างข้อตกลงเกี่ยวกับเพดานหนี้ได้หรือไม่

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.12% กดดันโดยแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Semiconductor (ASML -0.9%) รวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -0.6%) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบเพิ่มความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน เพื่อรอติดตามการพิจารณาร่างข้อตกลงเกี่ยวกับเพดานหนี้สหรัฐฯ ของสภาคองเกรส ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงวันพุธที่จะถึงนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.3 จุด โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเริ่มหาจังหวะขายทำกำไรสถานะ Long USD อีกทั้งผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยสภาคองเกรสในช่วงวันพุธนี้ ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์อาจมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ได้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจน แต่ทว่า บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรามองว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำอาจยังคงหนุนการทยอยซื้อทองคำในจังหวะปรับฐานของผู้เล่นบางส่วนในตลาด ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์คาดว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม อาจปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 99 จุด สอดคล้องกับความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงผลกระทบของภาวะดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นการพิจารณาร่างข้อตกลงเพดานหนี้สหรัฐฯ โดยสภาคองเกรส ที่จะมีขึ้นในช่วงวันพุธนี้

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าอาจส่งผลให้ยอดการส่งออก (Exports) เดือนเมษายน หดตัวต่อเนื่อง -2.2%y/y อย่างไรก็ดี ยอดการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฝั่งเอเชีย ทว่าแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯ และยุโรปก็อาจเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.80 บาทต่อดอลลาร์บ้าง ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่าสภาคองเกรสสหรัฐฯ อาจมีมติผ่านร่างข้อตกลงเพดานหนี้ได้ภายในสัปดาห์นี้ (รอลุ้นการพิจารณาในวันพุธนี้)

เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มแผ่วลงชัดเจน สะท้อนผ่านการพลิกกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท หลังมีจังหวะอ่อนค่าลงใกล้โซน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ในวันก่อนหน้า และหลังจากนั้นเงินบาทก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ ซึ่งในเชิงเทคนิคัล เราเริ่มเห็นสัญญาณการเกิด RSI Divergence รวมถึง Shooting star pattern บนกราฟค่าเงินบาทรายวัน ที่อาจชี้ว่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาแกว่งตัว sideway หรือ sideway down (มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง) โดยเรามองว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าว อาจจะอาศัยบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง หนุนให้แรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติลดลง หรือ นักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ ซึ่งล่าสุดเราเริ่มเห็นแรงขายทั้งหุ้นและบอนด์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร

อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของไทย เพราะหากยอดการส่งออกหดตัวแย่กว่าคาด หรือ ดุลการค้าขาดดุลมากกว่าคาด ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ อนึ่ง เราประเมินว่า แนวรับของเงินบาทก็อาจยังคงอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเห็นผู้เล่นบางส่วน อาทิ ผู้นำเข้าทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์อยู่ หลังเงินบาทได้อ่อนค่าเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่วนแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Short THB ขณะที่โฟลว์ขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้ทยอยขายเงินดอลลาร์ไปบ้างแล้ว ทำให้ผู้ส่งออกอาจรอให้เห็นการกลับตัวแข็งค่าที่ชัดเจนของเงินบาทก่อน และช่วงนี้ผู้ส่งออกบางส่วนก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ (ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้เร็ว หากทะลุโซนแนวต้าน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้)

ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.80 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 พ.ค. 2566 เวลา : 10:04:20

27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 1:09 am