ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (12 มิ.ย.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (12 มิ.ย.66) ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.61 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหว sideway ในโซน 34.55-34.62 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และผลการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ ทำให้ ทั้งราคาทองคำและเงินดอลลาร์ต่างเคลื่อนไหวในกรอบแคบ

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรเตรียมรับมือความผันผวน ท่ามกลางการประชุมธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด, ECB และ BOJ พร้อมรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ และจีน

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
 
? ฝั่งสหรัฐฯ – ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุม FOMC ตลาดอาจผันผวนไปตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอลงสู่ระดับ 4.1% (+0.2%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร ก็ชะลอลงสู่ระดับ 5.2% (+0.4%) ตามคาด ก็อาจช่วยให้ผู้เล่นในตลาดยังมองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน แต่หากอัตราเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน หรือ เพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดไป หากเฟดคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ เรามองว่า การชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบต่อภาคการบริการ (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของเศรษฐกิจ) ส่วนตลาดแรงงานก็ชะลอลงมากขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง และภาวะสินเชื่อ (Credit Condition) ที่ตึงตัวขึ้นอย่างชัดเจน จะส่งผลให้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% นอกจากนี้ เรายังคาดว่า เฟดอาจมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจเพื่อให้สะท้อนแนวโน้มการชะลอลงของข้อมูลเศรษฐกิจที่ผ่านมามากขึ้น และที่สำคัญ คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่ อาจยังคงสะท้อนว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งเราประเมินว่า ควรจะเห็นจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดที่มีมุมมองดังกล่าวมากขึ้น และจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดที่สนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ควรจะลดลงบ้าง อย่างไรก็ดี หากผลการประชุมเป็นไปตามเราคาด แต่ Dot Plot กลับสะท้อนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ก็อาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวน โดยเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น สวนทางกับที่เราคาดการณ์ได้

? ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Survey) เดือนมิถุนายน โดยตลาดมองว่า ความกังวลต่อแนวโน้มภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีน รวมถึงผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจกดดันให้บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีเพิ่มเติม โดยดัชนี ZEW อาจลดลงสู่ระดับ -13.1 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนอาจชะลอลง แต่เราประเมินว่า ECB จะยังคงให้ความสำคัญต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ ECB จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) +25bps สู่ระดับ 3.50% พร้อมกับส่งสัญญาณชัดเจนว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องยังมีความจำเป็น (ผู้เล่นในตลาดคาดว่า ECB อาจขึ้นดอกเบี้ยจนถึงระดับ 3.75%) โดยผู้เล่นในตลาดจะจับตาว่า ECB จะส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะมีอีกกี่ครั้ง

? ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจจีนอาจยังคงฟื้นตัวได้แย่กว่าคาด สะท้อนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเดือนพฤษภาคมที่อาจชะลอลงต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจขยายตัวราว +14%y/y (ชะลอลงจาก +18% ในเดือนก่อนหน้า) ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะโตเพียง +3.5%y/y ลดลงจาก +5.6% ในเดือนก่อน ซึ่งภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แย่กว่าคาดนั้น จะหนุนโอกาสที่ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเรามองว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ลง -10bps สู่ระดับ 2.65% ซึ่งแม้อาจไม่ได้ส่งผลบวกโดยตรงมากนัก แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวก็อาจหนุนให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจดีขึ้นจากความหวังว่าทางการจีนพร้อมเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อีกไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเรามองว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยจะ“คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% และยังคงตรึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไว้ที่ระดับ 0.00%+/-0.50% จนกว่า BOJ จะมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มอยู่ใกล้ระดับ 2% ได้ในระยะยาว แม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่า 3.5% ก็ตาม แต่ BOJ ยังคงกังวลว่า อัตราการเติบโตของค่าจ้างยังไม่สูงพอที่จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2% ได้ในระยะยาว

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าเริ่มชัดเจนขึ้น หลังเงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านโซน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ไกล โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่า นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงค่าเงินหยวนจีนซึ่งมีผลกับเงินบาทพอสมควรในช่วงนี้ โดยเงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินหยวนจีนผันผวนอ่อนค่าลง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราคงมองว่า เงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หากเฟดคงอัตราดอกเบี้ยพร้อมส่งสัญญาณจบรอบขาขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร หาก ECB ขึ้นดอกเบี้ยและย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.25-34.90 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 มิ.ย. 2566 เวลา : 10:19:50

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 11:43 am