ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (13 มิ.ย.66) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์


 
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (13 มิ.ย.66) ที่ระดับ  34.63 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่ต่างมองว่า เฟดมีโอกาสราว 79% (จาก CME FedWatch Tool) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้หนุนให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นธีม AI ต่างปรับตัวขึ้นอย่างคึกคัก นำโดย Amazon +2.5%, Nvidia +1.8% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.53% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.93%
 
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.16% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และธีม AI เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (Infineon Tech. +2.7%, ASML +0.7%) รวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes +3.0%, LVMH +1.8%) ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากความหวังว่าทางการจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันโดยความกังวลว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อสูง
 
ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ที่จะรับรู้ในช่วงค่ำของวันนี้ ทำให้การเคลื่อนไหวของ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหว sideway ในกรอบ 3.70%-3.80% ทั้งนี้ เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (buy on dip) บอนด์ระยะยาว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หรือ การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อการขึ้นดอกเบี้ยเฟดนั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีจังหวะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นมาบ้าง หลังจากอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงการซื้อขายระหว่างวัน โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับขึ้นสู่ระดับ 103.5 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟดได้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงมาทดสอบโซน 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,974 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงที่มีการย่อตัวลงมาและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินอาจผันผวนไปตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯในเดือนพฤษภาคม โดยหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอลงสู่ระดับ 4.1% (+0.2%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร ก็ชะลอลงสู่ระดับ 5.2% (+0.4%) ตามคาด ก็อาจช่วยให้ผู้เล่นในตลาดยังมองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน แต่หากอัตราเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน หรือ เพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดไป หากเฟดคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน
 
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Survey) เดือนมิถุนายน โดยตลาดมองว่า ความกังวลต่อแนวโน้มภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีน รวมถึงผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจกดดันให้บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีเพิ่มเติม โดยดัชนี ZEW อาจลดลงสู่ระดับ -13.1 จุด
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.70 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นมาบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ในระยะสั้นของเงินดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำก็รีบาวด์ขึ้นได้บ้างเช่นกัน
 
เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideway ในกรอบเดิม เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่อาจรอคอยผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก อย่างไรก็ดี ในช่วง 16.00 น. เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากรายงานดัชนี ZEW ของเยอรมนีออกมาแย่กว่าคาด กดดันให้เงินยูโร (EUR) เสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงได้บ้าง นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ (ในช่วง 19.30 น.) เพราะหากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าคาด จะส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มเชื่อว่าเฟดอาจมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ หรือ เฟดอาจจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะหนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นได้อีกครั้ง
 
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก แม้ว่าเงินดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าขึ้น หากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง เหมือนในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยก็เริ่มลดลงและมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติอาจกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้นได้ หลังรับรู้ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก
 
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI และอาจอยู่ในกรอบ 34.50-34.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มิ.ย. 2566 เวลา : 10:19:47

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 9:38 am