ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (14 มิ.ย.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์


ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 มิ.ย.66) ที่ระดับ  34.69 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.55 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อเนื่อง หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามที่ตลาดคาดหวัง ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดคาดว่า เฟดมีโอกาสราว 94% (จาก CME FedWatch Tool) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้หนุนให้ หุ้นสไตล์ Growth หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นธีม AI ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดย Nvidia +3.9%, Tesla +3.6% ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.69%
 
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อ +0.55% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Anglo American +2.8%, Kering +1.0%) ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นลง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และธีม AI เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (ASML +1.4%) อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังเป็นปัจจัยกดดันการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรป
 
ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะต่างมองว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ที่ชะลอลงตามคาด แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.82% อย่างไรก็ดี เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะในการทยอยเข้าซื้อ (buy on dip) บอนด์ระยะยาว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หรือ การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อการขึ้นดอกเบี้ยเฟดนั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด
 
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอลงตามคาด ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นมาบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.3 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงมาทดสอบโซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงที่มีการย่อตัวลงมาและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา
 
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมเฟด ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเวลา 1.00 น. ของเช้าวันพฤหัสบดี ตามเวลาในประเทศไทย โดยเราคาดว่า การชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบต่อภาคการบริการ (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของเศรษฐกิจ) ส่วนตลาดแรงงานก็ชะลอลงมากขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง และภาวะสินเชื่อ (Credit Condition) ที่ตึงตัวขึ้นอย่างชัดเจน จะส่งผลให้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.00-5.25% นอกจากนี้ เรายังคาดว่า เฟดอาจมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจเพื่อให้สะท้อนแนวโน้มการชะลอลงของข้อมูลเศรษฐกิจที่ผ่านมามากขึ้น และที่สำคัญ คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่ อาจยังคงสะท้อนว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ซึ่งเราประเมินว่า ควรจะเห็นจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดที่มีมุมมองดังกล่าวมากขึ้น และจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดที่สนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ควรจะลดลงบ้าง อย่างไรก็ดี หากผลการประชุมเป็นไปตามเราคาด แต่ Dot Plot กลับสะท้อนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ก็อาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวน โดยเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น สวนทางกับที่เราคาดการณ์ได้
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.70 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำเป็นปัจจัยหลัก ขณะที่จังหวะการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งเรามองว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจส่งผลต่อเนื่องมายังการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ได้บ้าง ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเผชิญโซนแนวต้านแรกแถว 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจใช้จังหวะการอ่อนค่าดังกล่าวในการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ได้บ้างก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด
 
ทั้งนี้ หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าว เรามองว่า มีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าลงต่อเนื่องไปทดสอบโซนแนวต้าน 34.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นโซนที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ หากผลการประชุมเฟดไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาด เช่น เฟดอาจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามคาด แต่ในส่วน Dot Plot ใหม่ กลับมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ 1-2 ครั้งในการประชุมครั้งถัดๆ ไป
 
ในทางกลับกัน หากผลการประชุมเฟด เป็นไปตามที่เราคาด และ Dot Plot ย้ำจุดจบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เราประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ โดยมีโอกาสเห็นเงินบาทแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ต้องจับตาทิศทางราคาทองคำ เพราะหากตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงและกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่อง จนหลุดโซนแนวรับปัจจุบัน ก็อาจเห็นผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้
 
อนึ่ง เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอนของการเมืองไทย รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด และอาจอยู่ในกรอบ 34.50-34.90 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 มิ.ย. 2566 เวลา : 09:34:10

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 8:19 pm