ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด(6 ก.ค.66) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.98 บาทต่อดอลลาร์


ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (6 ก.ค.66) ที่ระดับ  34.98 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.88 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 34.85-35.02 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำสู่ระดับ 1,924 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ต่างยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุดในช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ ได้สะท้อนจุดยืนของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่ต่างสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม Semiconductor (Intel -3.3%, Qualcomm -2.5%) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ร้อนแรงขึ้น หลังทางการจีนออกมาตรการควบคุมการส่งออกโลหะที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรม Semiconductor

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงกว่า -0.73% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก รวมถึงความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่สดใสและอาจกดดันภาพเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนได้สะท้อนผ่านการปรับตัวลงต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Kering -2.9%, Anglo American -2.7%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่มุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ผ่านรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ได้ช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.94% ใกล้โซนแนวต้านสำคัญ 4.00% ซึ่งเรามองว่า อาจจะเป็นจุดกลับตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนอาจทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น หรือ Buy on Dip

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ ภาวะระมัดระวังตัวของตลาดยังได้หนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอีกด้วย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.3 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.95-103.4 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,924 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวลงของราคาทองคำ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ที่อาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์ได้ รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง ก่อนปิดท้ายด้วย รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) และรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ซึ่งทุกข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ก็ล้วนมีความสำคัญต่อการตัดสินใจปรับนโยบายการเงินของเฟด 

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ชะลอลงจริง ตามที่เราคาดการณ์ไว้ และเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้างของเงินบาท หลังเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างเชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้จริง นอกจากนี้ ภาวะตลาดการเงินที่ไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ก็ยังคงเป็นปัจจัยหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่ทองคำก็อาจไม่ได้เป็นที่ต้องการของผู้เล่นในตลาดมากนัก เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ 

อย่างไรก็ดี แรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอลงได้บ้าง เนื่องจากทางรัฐสภาได้มีการกำหนดวันโหวตเลือกนายกฯ ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ทำให้นักลงทุนต่างชาติ อาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ไทย เพื่อรอจับตาทิศทางการเมืองไทยก่อน อนึ่ง เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวขึ้นตามได้บ้าง ซึ่งก็จะช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาด อย่าง นักลงทุนต่างชาติ ทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยเพิ่มเติมได้ 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน ช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มทยอยรายงานตั้งแต่เวลา 19.15 น. ทำให้ในช่วงการซื้อ-ขาย ระหว่างวัน เงินบาทอาจไม่ได้แกว่งตัวในกรอบกว้าง แต่อาจจะผันผวนมากขึ้นในช่วงดังกล่าว ซึ่งเราประเมินว่า โซนแนวรับสำคัญยังคงเป็นช่วง 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่โซนแนวต้านก็อาจอยู่ในช่วง 35.15 บาทต่อดอลลาร์

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.80-35.15 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ก.ค. 2566 เวลา : 10:39:29

10-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 10, 2024, 2:16 am