ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (4 ส.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (4 ส.ค.66) ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.55-34.70 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่ออกมาแย่กว่าคาด และการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ตามที่เราได้ประเมินไว้ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 5.25% พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ
 
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.25% หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.18% กดดันให้หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ยังไม่สามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้ชัดเจนนัก ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ ทั้ง Apple และ Amazon นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่ออกมาแย่กว่าคาด
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.63% ท่ามกลางความผิดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัว ที่สะท้อนผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ปรับตัวลดลง แย่กว่าคาด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +1.9%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นกว่า +3%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แรงขายบอนด์ระยะยาวฝั่งสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่บ้าง ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.18% อีกครั้ง ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (ยังคงเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เนื่องจาก Risk-Reward ถือว่าน่าสนใจ โดยเราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอีกไม่มากนัก (มองบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ทะลุระดับ 4.30%) ขณะที่ การปรับตัวลดลงยังมีโอกาสพอสมควร (คงเป้าปลายปี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แถว 3.50%) ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรือ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงิน 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก กดดันโดยการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์ หลัง BOE ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.4-102.8 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะย่อตัวลงบ้าง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังปรับตัวสูงขึ้นและมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้างในระยะสั้น ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไปได้ โดยตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้น 2 แสนตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 3.6% สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ตลาดแรงงานอาจลดความตึงตัวลง สอดคล้องกับยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่อาจลดลงต่อเนื่อง ตามภาพเศรษฐ กิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ลดลงสู่ระดับ +4.2%y/y ทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจคลายกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ เรามองว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ยังคงเป็นปัจจัยที่ควรติดตามใกล้ชิดและอาจส่งผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ และส่วนในฝั่งไทย สถานการณ์การเมืองไทยจะยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อรอลุ้นการจัดตั้งว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่และการโหวตเลือกนายกฯ 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้น เงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยอีกครั้ง ที่ล่าสุดได้กดดันให้นักลงทุนต่างชาติ ต่างเทขายสินทรัพย์ไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ ในส่วนของทิศทางเงินดอลลาร์นั้น แม้ว่าเงินดอลลาร์อาจจะอ่อนค่าลงมาบ้าง แต่เงินดอลลาร์ก็ยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงตลาดผันผวนสูง ทำให้ต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ว่าจะออกมาในทิศทางใด โดยหากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม รวมถึง อัตราการเติบโตของค่าจ้าง ชะลอลงต่อเนื่อง และออกมาต่ำกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดคงไม่เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ (ดัชนี DXY อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102 จุด หรือ ต่ำกว่า แต่อาจไม่ต่ำกว่าระดับ 101.5 จุด) ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด เงินดอลลาร์ก็อาจยังพอมีแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่การแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่อง จากผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดต่างก็มีสถานะ Short เงินดอลลาร์อยู่ (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่า)

ทั้งนี้ เราคงประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทแถว 34.75 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเรายังคงเห็นแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดอยู่บ้าง แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสเห็นเงินบาทอ่อนค่ากลับไปทดสอบโซน 34.90-35 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน ขณะที่โซนแนวรับในช่วงนี้ อาจอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจะคลี่คลายลงถึงจะเห็นการกลับมาแข็งค่าที่ชัดเจนของเงินบาทได้

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ส.ค. 2566 เวลา : 10:15:03

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 6:40 pm