ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (7 ส.ค.66) แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (7 ส.ค.66) ที่ระดับ  34.67 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.79 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า เงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 34.60-34.81 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด 
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง ก่อนจะกลับมาย่อตัวลง หลังยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และไทย รวมถึง เตรียมพร้อมรับมือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

-ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI จะอยู่ที่ระดับ 3.3% (คิดเป็นการเพิ่มขึ้น +0.2%m/m) ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามแรงหนุนของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI มีแนวโน้มชะลอลงและอาจทรงตัวใกล้ระดับ 3.0%-3.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจทรงตัวที่ระดับ 4.8% และมีแนวโน้มชะลอลง ตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานออกมาตามคาด ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงมองว่า เฟดจะยังไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ในการประชุมเดือนกันยายน (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ ไม่ถึง 30%) นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบรรยากาศในตลาดการเงินก็อาจผันผวนไปตามการตอบรับของผู้เล่นในตลาดต่อรายงานผลประกอบการได้

- ฝั่งยุโรป – นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องและผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนสิงหาคม ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ -24.5 จุด ส่วนในฝั่งอังกฤษ ตลาดมองว่า เศรษฐกิจอังกฤษอาจชะลอลงมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 โดยเศรษฐกิจอาจไม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากที่ขยายตัวราว +0.1%q/q ในไตรมาสแรก กดดันโดยผลกระทบต่อเนื่องจากการประท้วงหยุดงานในช่วงต้นปี และ ผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่า หาก BOE เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอลงมากขึ้นและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงปลายปีนี้หรือในช่วงต้นปีหน้า  

- ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานยอดการค้าล่าสุด โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) เดือนกรกฎาคมจะยังคงหดตัวกว่า -12.6%y/y กดดันโดยการชะลอตัวของบรรดาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว (ดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 จุด) นอกจากนี้ การฟื้นตัวในประเทศที่ยังคงซบเซาจะกดดันให้ยอดการนำเข้า (Imports) ยังคงหดตัว -5.3%y/y ทั้งนี้ ในระยะถัดไป เราคาดว่า ยอดการค้าของจีน โดยเฉพาะในฝั่งนำเข้าอาจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังทางการจีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดมองว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6.50% เพื่อรอประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออีกครั้ง หลังอินเดียเผชิญภาวะน้ำท่วมและฝนตกหนัก ซึ่งอาจช่วยลดทอนผลกระทบจากภาวะแล้ง El Nino ได้ นอกจากนี้ ค่าเงินรูปี (INR) และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็มีเสถียรภาพมากขึ้น ลดแรงกดดันต่อ RBI ในการขึ้นดอกเบี้ย

- ฝั่งไทย – เรามองว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนกรกฎาคมอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.8% (คิดเป็นการเพิ่มขึ้น +0.4%m/m) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน รวมถึงราคาสินค้าหมวดอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจอยู่ที่ระดับ 0.9%-1.0% ซึ่งเรามองว่า อัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในระดับดังกล่าวอาจทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมากนัก และเรายังคงมองว่า กนง. อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25% จนกว่าจะเห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่าคาด ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่อาจหนุนเงินเฟ้อได้นั้น คือ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ซึ่งยังมีความไม่ชัดเจน จนกว่าจะการจัดตั้งรัฐบาลจะเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงบ้าง แต่ความวุ่นวายของการเมืองไทยก็อาจกดดันให้เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทอาจผันผวน sideway ในกรอบกว้าง โดยมีแนวต้านตั้งแต่โซน 34.75-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่แนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น เงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ตามแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงได้บ้าง หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว อนึ่ง เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ ในกรณีที่ ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความผิดหวังต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนหรือประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดเครดิตเรทติ้งโดย Fitch Rating จากระดับ AAA เหลือ AA+

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินโลก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.25-35.00 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.80 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ส.ค. 2566 เวลา : 10:29:01

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 7:00 am