ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (15 ก.ย.66) ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง ที่ระดับ 35.79 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (15 ก.ย.66)  ที่ระดับ  35.79 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า 

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.72-35.83 บาทต่อดอลลาร์) โดยผันผวนไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมเกี่ยวกับทองคำ โดยเงินบาทมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าไปตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ รวมถึงแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นบางส่วนในตลาด ทั้งผู้ส่งออกและผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (ขายทำกำไร) ได้ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทให้อยู่ในโซนแนวต้าน 35.80-35.85 บาทต่อดอลลาร์ที่เราได้ประเมินไว้

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้งยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการ (Jobless Claims) ต่างออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก หรือ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวก็ไม่ได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรง จนทำให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน (สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ให้โอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อราว 36% จาก CME FedWatch Tool) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ หลัง หุ้น ARM (ผู้ผลิตและออกแบบชิพ) ปรับตัวขึ้นร้อนแรง +25% ในการซื้อขายวันแรก ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว +0.84% 
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.52% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว หลังจากที่ล่าสุด ECB ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ขึ้น +25bps สู่ระดับ 4.00% เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวมยังคงซบเซาอยู่ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้นและอาจกลับเข้าสู่เป้าหมายของ ECB ได้

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แม้จะเคลื่อนไหวผันผวน แต่ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.28% ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัว sideway และถ้าหากจะลุ้นให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะกลับมาปรับตัวลดลงได้ชัดเจน อาจต้องรอจับตา Dot Plot ใหม่ของเฟดในการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า    

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด และทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น “ดูดีกว่า” ประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกัน มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วนั้น ได้กดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงหลุดโซนแนวรับแรกที่เราประเมินไว้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105.4 จุด (กรอบ 104.6-105.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ตามมุมมองที่ส่วนใหญ่คาดว่า บรรดาธนาคารกลางหลักใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ทำให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นจากโซน 1,922 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,932 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า แม้ภาพเศรษฐกิจจีนโดยรวมอาจยังไม่สดใสนัก แต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านมา ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนสิงหาคม ที่อาจขยายตัว +3.0%y/y ส่วนยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็อาจโตได้ราว +3.8%y/y โดยเป็นการขยายตัวที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่อง +3.3%y/y จากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ ที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด อาทิ ดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดนิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing Index) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งในรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคนั้น ผู้เล่นในตลาดก็จะรอลุ้นว่า คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาวจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร  

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แม้ว่าจะส่งสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังคงออกมาดูดีกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ และอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเข้ามากดดันเงินบาทได้บ้าง ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาของเงินเยนญี่ปุ่น ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาด อย่าง บริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น ทยอยเข้าซื้อเงินเยนได้บ้างเช่นกัน

อนึ่ง เรามองว่า ควรจับตาและระวังความผันผวนในตลาดการเงินฝั่งเอเชียในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ เรามองว่า ค่าเงินหยวนของจีน (CNY) ก็มีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย และอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

แม้เราประเมินว่า เงินบาทอาจมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง แต่การอ่อนค่าอาจจำกัดอยู่ในช่วง 35.80-35.85 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาททดสอบโซนแนวต้าน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนค่าสุดที่เราเคยประเมินไว้ในวันที่ 28 มิถุนายน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาแย่กว่าคาด กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชีย ขณะที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาแข็งแกร่ง ส่วนโซนแนวรับ เรามองว่า 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ อาจยังเป็นแนวรับแรกของเงินบาทในระยะสั้นนี้

อนึ่ง ในช่วงนี้ เรามองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.65-35.85 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2566 เวลา : 10:16:14

09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 4:08 pm