ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดตลาด (22 ก.ย.66) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 36.11 บาทต่อดอลลาร์


นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (22 ก.ย.66) ที่ระดับ  36.11 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.16 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน (แกว่งตัวในช่วง 36.10-36.28 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของราคาทองคำ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25% กดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงหนัก นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD และการปรับสถานะเก็งกำไรเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์นี้

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องและออกมาดีกว่าคาด รวมถึงท่าทีของเฟดที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) โดยภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 4.50% กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลงแรง (Amazon -4.4%, Nvidia -2.9%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.82% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.64%  
 
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาดิ่งลงกว่า -1.30% ท่ามกลางความกังวลว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ กดดันให้บรรดาหุ้นที่อ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ ต่างปรับตัวลดลง อาทิ หุ้นเทคฯ หุ้นสไตล์ Growth (SAP -1.1%, Hermes -5.9%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto -2.7%) หลังราคาแร่โลหะเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงนี้
 
ในฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของเฟด รวมถึงธนาคารกลางหลักอื่นๆ ที่แม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมล่าสุด ทว่า บรรดาธนาคารกลางดังกล่าวก็อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวต่างปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงออกมาดีกว่าคาดก็มีส่วนช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.50% สูงกว่าที่เราเคยประเมินไว้พอสมควร ทั้งนี้ ในช่วงระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อ โดยต้องจับตาทิศทางนโยบายการเงินของ BOJ ในวันนี้ ว่าจะมีการส่งสัญญาณพร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งหาก BOJ ส่งสัญญาณดังกล่าวก็อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นได้บ้าง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideway โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างตามการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ และบางส่วนก็ทยอยปรับสถานะ Short JPY (มองเงินเยนอ่อนค่า) ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 105.4 จุด (กรอบ 105.2-105.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และท่าทีของบรรดาธนาคารกลางหลักที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงและยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับในระยะสั้น ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งในระยะหลังที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า ทาง BOJ อาจจะเริ่มมีการสื่อสารต่อตลาดการเงิน ว่า BOJ อาจพร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางที่จะบรรลุเป้าหมายของ BOJ ได้ โดยเราประเมินว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.10% และยังคงใช้นโยบาย Flexible Yield Curve Control อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่นกอปรกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (ตลาดคาดอัตราเงินเฟ้อ CPI ญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม อาจอยู่ที่ระดับ 3.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ Core-Core CPI ที่ไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน จะยังคงสูงกว่า 4.3%) อีกทั้งการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ อาจทำให้ผู้ว่าฯ BOJ เริ่มส่งสัญญาณในลักษณะที่มีความ hawkish มากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเยนญี่ปุ่นซึ่งจะช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้บ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อญี่ปุ่นที่เป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิ (Net Energy Importer) 

และนอกเหนือจากผลการประชุมของ BOJ เราประเมินว่า ตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น โดยเฉพาะ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing and Services PMIs) เดือนกันยายน ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางเงินดอลลาร์และสกุลเงินอื่นๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นการขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) อย่างต่อเนื่อง ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน นอกจากนี้ การกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยบ้างของนักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้า รวมถึง การย่อตัวลงของราคาน้ำมันดิบ ก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าจะเห็นปัจจัยที่สามารถกดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ ซึ่งกรณีที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าได้ชัดเจน ควรเห็นทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ โดยเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ทำให้ตลาดเริ่มไม่เชื่อใน Dot Plot ใหม่ของเฟด

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ (ในช่วงราว 10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย และช่วงการแถลงต่อสื่อมวลชนของผู้ว่าฯ BOJ ในช่วง 13.30 น.) เพราะหาก BOJ มีการส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น (หรือมีความ hawkish มากขึ้น) ก็อาจหนุนให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งอาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี ท่าทีดังกล่าวก็สามารถหนุนให้บอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อราคาทองคำ และหากราคาทองคำย่อตัวลงก็สามารถกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้เช่นกัน ทำให้ค่าเงินบาทอาจผันผวนได้พอสมควรในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.35 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2566 เวลา : 10:13:14

08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 12:41 pm